ReadyPlanet.com


มาตรการค่าเงินบาท "หม่อมอุ๋ย" กิน 2เด้ง


มาตรการค่าเงินบาท "หม่อมอุ๋ย" กิน 2เด้ง
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 21 ธันวาคม 2549 09:02 น.
       * แม้ตลาดหุ้นจะพินาศจากมาตรการค่าเงินบาท
       * แต่เมื่อประเมินใครได้ ใครเสีย พบว่า หม่อมอุ๋ย กวาด 2 เด้งแบบไม่รู้เนื้อ
       * เด้งแรกจัดการกลุ่มอำนาจเก่าที่ดอดเข้ามาปั่นค่าเงินหวังดิสเครดิตรัฐบาล เท่ากับเป็นการทำลายถุงเงินของคู่ต่อสู้ไปในตัว
       * เด้งสองคนใกล้ชิดรัฐบาลดอดเก็บหุ้นราคาถูก จนร่ำรวยกันในชั่วข้ามคืน ....

       
       มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาหลังจากตลาดทุนปิดเมื่อ 18 ธันวาคม 2549 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น 19 ธันวาคม 2549 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รูดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 587.92 จุด ลดลง 142.63 จุด หรือลดลง 19.52% จวนเจียนที่ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายหุ้นเป็นรอบที่ 2 ของวัน
       
       
นับเป็นครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ใช้มาตรการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเมื่อเวลา 11.29 นาฬิกา หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง 74.06 จุด หรือลดลง 10.14% จึงหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที และเปิดทำการซื้อขายต่ออีกครั้งในเวลา 11.59 นาฬิกา
       
       หลังจากนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลึกถึง 19.52% เกือบที่จะต้องหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง(หยุด 1 ชั่วโมง) แต่ดัชนีได้ดีดกลับขึ้นไปได้และปิดตลาดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 622.14 จุด ลดลง 108.41 จุดหรือลดลง 14.84% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 72,131.55 ล้านบาท หุ้นปรับตัวลดลง 460 หลักทรัพย์ เพิ่มขึ้น 8 หลักทรัพย์ ไม่เปลี่ยนแปลง 13 หลักทรัพย์
       
       ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกมา 25,124.97 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,904.92 ล้านบาท ส่วนลูกค้ารายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ 28,029.89 ล้านบาท
       
       ท่ามกลางหน่วยงานต่าง ๆ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะภาคตลาดทุน ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมถึงโบรกเกอร์ได้ออกโรงเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว
       
       มูลค่าของทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเมินกันว่าลดลงไปในวันเดียวราว 8 แสนล้านบาทจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทในวันดังกล่าวผันผวนอย่างมากเริ่มตั้งแต่การอ่อนค่าลงไปถึง 35.95-35.97 บาท กลับขึ้นมาแข็งค่าที่ระดับ 35.50 ก่อนที่จะอ่อนลงไปที่ระดับ 35.85 บาทอีกครั้ง
       
       รู้กระทบหุ้นแต่ต้องทำ
       
       ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคตลาดทุนได้พุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงความผิดพลาดของมาตรการดังกล่าวที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบพังทลาย ด้วยการขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว ซึ่งในระหว่างวันผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมายืนยันว่าจะยังคงใช้มาตรการนี้ต่อไป
       
       แต่ภายใต้ภาพของตลาดหุ้นที่แดงฉาน พร้อมด้วยเสียงก่นดาของบรรดานักลงทุนที่เจ็บตัวไปไม่น้อยจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงกราวรูด ด้วยข้อกล่าวหาว่ามาตรการดังกล่าวไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคตลาดทุน ทั้ง ๆ ที่บรรดานักเก็งกำไรค่าเงินบาทส่วนใหญ่จะพักเงินในตลาดตราสารหนี้ผ่านการซื้อหุ้น***้หรือพันธบัตรเป็นหลัก
       
       หากประเมินจากการให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในช่วงค่ำของวันที่ 19 ธันวาคม 2549 หลังจากการยอมยกเลิกไม่ใช้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทกับตลาดหุ้นให้ดีจะพบว่า เรื่องเม็ดเงินของบรรดานักเก็งกำไรค่าเงินบาทแบงก์ชาติทราบดีว่ามีการมาพักเงินไว้ที่ตลาดตราสารหนี้ และก็รับรู้ว่าเม็ดเงินเหล่านั้นเข้ามาพักในตลาดหุ้นไม่มาก เนื่องจากในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าตลาดตราสารหนี้ ที่ได้ดอกเบี้ยต่อเนื่องและมีความเสี่ยงต่ำ
       
       "ค่อนข้างชัดเจนว่าแบงก์ชาติและหม่อมอุ๋ยรู้ดีว่า ในตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่งพักเงินใหญ่ของนักเก็งกำไร แต่ทำไมถึงใช้มาตรการสกัดค่าเงินคลุมทั้งตลาดเงินและตลาดทุนในวันนั้นเพียงวันเดียว ก่อนจะมายกเลิกไม่ใช้กับตลาดทุนในช่วงค่ำของวันนั้น" แหล่งข่าวจากวงการการเงินตั้งข้อสังเกตุพร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติม
       
       ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่แบงก์ชาติจะไม่รู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจะออกมาในรูปแบบใด แต่ก็บังคับใช้ แม้จะต้องเสี่ยงกับการถูกด่าจากผู้เสียประโยชน์จากกลุ่มคนในตลาดหุ้น ซึ่งถือว่าการใช้มาตรการในวันดังกล่าวมีนัยยะที่มากกว่าการสกัดกั้นนักเก็งกำไรค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว
       
       เด้งแรกสกัดกลุ่มป่วนรัฐบาล
       
       แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกล่าวว่า จุดประสงค์ของมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทนอกเหนือจากเพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนที่จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายอื่นที่แฝงเข้ามาด้วย เรียกว่าออก 1 มาตรการแล้วได้ประโยชน์มากกว่า 1 โดยผลอีกด้านหนึ่งถือเป็นการสกัดกั้นการเข้ามาสร้างความวุ่นวายของกลุ่มอำนาจเก่า
       
       ต้องไม่ลืมว่าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ถือเป็นวันครบรอบ 3 เดือนของการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพรรคไทยรักไทย เมื่อค่ำของวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีความพยายามของกลุ่มการเมืองเดิมที่จะเข้ามาดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยการเข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
       
       ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มการเมืองเดิมทราบดีว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นทุกขณะจะทำให้ภาคการส่งออกมีปัญหา หลังจากนั้นก็จะกระทบไปยังกลุ่มเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงที่ยังเหนียวแน่นกับกลุ่มอำนาจเดิม หากทางการไม่ดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้ก็จะเสื่อมความนิยม พร้อมทั้งเปิดทางให้มีการเรียกร้องกลุ่มอำนาจเดิมกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง
       
       ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องออกมาตรการที่ค่อนข้างแรงมาสกัดการเข้ามาสร้างความวุ่นวายผ่านตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันแทนที่มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทจะตีกรอบแค่ตลาดเงินเพียงอย่างเดียว กลับไม่ระบุพื้นที่ครอบคลุมของมาตรการ ทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบไปด้วย
       
       หากสังเกตุให้ดีจะพบว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทราบดีว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบกับตลาดหุ้น แต่การประกาศใช้มาตรการที่มีผลต่อตลาดหุ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 นั้น ทำให้ได้ประโยชน์ตามมาเพราะนอกจากจะสกัดกลุ่มที่จะเข้ามาสร้างเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นแล้ว ยังเป็นการสกัดกั้นเส้นทางการเงินของกลุ่มอำนาจเดิมที่มีฐานอยู่ในตลาดหุ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
       
       เห็นได้จากเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคมที่มีการสกัดเส้นทางการเงิน ทำให้การนัดหมายในการชุมนุมในวันนั้นต้องเลื่อนออกไป นั่นคือความสำเร็จของการสกัดกั้นเส้นทางการเงินที่จะมาเป็นตัวหล่อเลี้ยงกิจกรรมการทวงบัลลังก์คืน
       
       ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นทรุดฮวบ แม้จะทำให้นักลงทุนบางรายเจ็บเนื้อเจ็บตัวไปบ้าง แต่ก็ทำให้มูลค่าเงินลงทุนของฐานอำนาจเดิมหายไปไม่น้อย ความต้องการในครั้งนั้นเพื่อให้กลุ่มเดิมคายหุ้นที่ถือผ่านนอมินีในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการคำนวณดัชนีออกมา เพราะในระหว่างวันแบงก์ชาติได้ออกมายืนยันตลอดว่าจะไม่ยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว
       
       จะเห็นได้ว่ามาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เป็นทั้งของนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มอำนาจเดิมที่มีเงินสกุลดอลลาร์อยู่มากแล้วยังสามารถทลายฐานเงินในตลาดหุ้นของคนกลุ่มนี้ได้อีกทางหนึ่ง
       
       เด้งสองคนใกล้ชิดเก็บหุ้น 300 ล้าน
       
       ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ต่างกันเทขายนั้น ในจังหวะนั้นจะมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงลงไปถึง 142 จุดและตีคืนขึ้นมาจนปิดตลาดที่ติดลบ 108 จุด ช่วงที่ดัชนีตีคืนกว่า 30 จุดนี้บางกลุ่มที่กล้าเข้าไปช้อนซื้อ
       
       "มีคนใกล้ชิดกับหม่อมอุ๋ยบางคนเข้าไปซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้ทำการซื้อขายหลังจากหยุดการซื้อขายมา 30 นาที ซึ่งในขณะนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังไหลรูดลงมาเกิน 100 จุด เงินที่ใช้ซื้อหุ้นในครั้งนี้มีไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยซื้อผ่านโบรกเกอร์ใหญ่รายหนึ่งดำเนินการในนามของนอมินีแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้จะต้องทราบข้อมูลดีว่าในวันที่ 19 หลังมาตรการออกฤทธิ์หุ้นจะตกหนัก" เซียนหุ้นรายใหญ่กล่าว
       
       อย่างไรก็ตามเขายังมองในแง่ดีว่า มาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาสามารถสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ถือเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือความไม่รอบคอบของแบงก์ชาติเองที่ประเมินผลกระทบจากตลาดหุ้นน้อยเกินไป โดยคาดกันว่าตลาดหุ้นไม่น่าจะลงเกิน 10% หรือประมาณ 70 จุด
       
       หม่อมอุ๋ยตะลึงคำสั่งขายแสนล้านรีบกลับลำ
       
       ทั้งนี้การกลับลำยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าวกับภาคตลาดหุ้นนั้น เขาเล่าว่าบรรดาโบรกเกอร์ที่เข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเอายอดคำสั่งขายของนักลงทุนต่างประเทศไปให้ดู โดยมียอดสั่งขายออกมาในวันรุ่งขึ้น(20 ธันวาคม) อีกราว 1 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อทางการเห็นยอดคำสั่งขายที่ตั้งไว้ล่วงหน้าดังกล่าวถึงต้องตัดสินใจยกเลิกมาตรการดังกล่าวที่ใช้กับภาคตลาดหุ้น
       
       ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 20 ธันวาคมดีดคืนขึ้นมา 11.16% ปิดตลาดที่ 691.55 จุด เพิ่มขึ้น 69.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 55,217.89 ล้าบาท นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายสุทธิ 2,872.67 ล้านบาท รายย่อยได้โอกาสขายสุทธิ 6,866.06 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,738.73 ล้านบาท
       
       แม้การยกเลิกมาตรการดังกล่าวต่อภาคตลาดทุนยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมสูญเสียเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวไปไม่น้อย และค่าเงินบาทมีความเป็นได้สูงที่จะอ่อนค่าลงเกินกว่าระดับ 36 บาทตามความต้องการในใจของธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       ***********
       
       "เทมาเส็ก"เจ๊งแล้วเจ๊งอีก
       
       ภายใต้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกฤทธิ์เมื่อ 19 ธันวาคม 2549 ที่เล่นเอาตลาดหุ้นไทยแดงเถือกตกมากที่สุดเกินกว่า 100 จุด ทำสถิติให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยที่นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นสุทธิออกมากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
       
       สำหรับหุ้นที่มีการจับตากันกลุ่มหนึ่งคือ บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN หลังจากที่มีการเปลี่ยนมือจากตระ***ลชินวัตรมาเป็นเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ กลุ่มลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์จากราคาเสนอซื้อที่ 49.25 บาท โดยซื้อต่อจากพินทองทา ชินวัตร พานทองแท้ ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้นหรือ 49.59% มูลค่า 73,271.2 ล้านบาท จากนั้นได้ทำคำเสนอซื้อหุ้น SHIN ทั้งหมด เบ็ดเสร็จเฉพาะส่วนที่ซื้อหุ้นสามัญเทมาเส็กถือหุ้นชิน คอร์ป ภายใต้ชื่อของซีดาร์ โฮลดิ้งส์และแอสเพน โฮลดิ้งส์ รวม 3,076.76 ล้านหุ้น ซึ่งต้องใช้เงินในการซื้อทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 151,530 ล้านบาท และต้องใช้เงินอีกส่วนหนึ่งรับซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ
       
       สถานการณ์ที่เลวร้ายจากตลาดหุ้นในวันที่ 19 ธันวาคมทำให้หุ้นชิน คอร์ป ปรับลดลงกว่า 24% จนปิดตลาดที่ 22 บาท หากประเมินจากราคาปิดในวันดังกล่าวเทียบกับ ราคาที่ซื้อต่อจากตะ***ลชินวัตรและราคาที่ต้องทำคำเสนอซื้อ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่เคยขาดทุนประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาทเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ที่วันนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 29 บาท
       
       ในวันที่หุ้นไทยตกถล่มถลายนั้น ยิ่งทำให้ "เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์" ขาดทุนในชิน คอร์ปไปแล้วกว่า 81,211 ล้านบาท หรือขาดทุนไปแล้วกว่า 53.59% จากเงินลงทุนทั้งหมด ไม่นับหุ้นบริษัทลูกที่ชิน คอร์ปเข้าไปถือ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ราคาลดลงเกือบ 21% ปิดตลาดที่ 66.50 บาท บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ร่วงมากกว่า 21% ราคาปิดที่ 1.20 บาท บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ปิดที่ 6.50 บาท และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ลดลง 12.17% ปิดตลาดที่ 3.32 บาท
       
       แม้หลังปิดตลาดจะมีการยกเว้นการใช้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้กับตลาดหุ้น จนทำให้หุ้นดีดขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นกับทุนของรัฐบาลสิงคโปร์รายนี้คงต้องกลับไปทบทวนถึงการเข้าซื้อกิจการที่เชื่อมโยงกับภาคการเมืองในประเทศต่าง ๆ
       
       *************
       
       "2สภาฯ"ชี้ส่งออกไม่ได้รับอานิสงค์ค่าเงินบาท!
       
       "สภาอุตฯ - หอการค้า" ประสานเสียงชี้ธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการสกัดค่าเก็งกำไรค่าเงินบาท เผยค่าเงินบาทที่อ่อนลงยังไม่มีผลต่อการส่งออกต้องดูสถานการ์ค่าเงินไปอีก 2-3สัปดาห์ พร้อมย้ำหากมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อาจต้องหยุดกิจการ-ปลดคนงานออก
       
       สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาตรการสกัดค่าเงินบาทวานนี้ (19 ธ.ค.) นั้น ทางสภาอุตฯพอใจในระดับหนึ่งเพราะเป็นมาตรการสกัดการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างประเทศ ถือว่าธปท.ทำถูกต้องแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดทุนเป็นตลาดที่เซนซิทีฟ (sensitive)มากซึ่งอาจจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อไปได้ จึงเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะต้องเร่งอธิบายสร้างความเข้าใจนักลงทุนให้ชัดเจนว่ามาตรการที่ออกมานั้นต้องการทำอะไร ต้องการสกัดพวกเก็งกำไรเท่านั้น ใช่ไหม ไม่ใช่ต้องการออกมาตรการแบบเหวี่ยงแหทำให้กระทบต่อนักลงทุนไปหมด ซึ่งสิ่งเหล่าจะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้น
       
       "ที่หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล ) ออกมากลับลำตอนเย็นนั้นวานนี้นั้น เข้าใจว่าธปท.มีข้อมูลบางอย่างที่เราไม่รู้ อาจจะมีออเดอร์สั่งเทขายจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาลก็เป็นไปได้ สิ่งที่หม่อมอุ๋ยพูดนั้นถือว่าเป็น การพบกันครึ่งทางระหว่าง ธปท.กับนักลงทุนต่างประเทศ "ประธาน ส.อ.ท. ระบุ
       
       อย่างไรก็ตามมาตรการของธปท.ที่ออกมานั้นผู้ส่งออกที่ระดมทุนในตลท.จะไม่รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบเข้าไปลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่การเก็งกำไร และค่าเงินบาทก็ไม่ได้อ่อนมากมายแค่ 2% เท่านั้นยังไม่มีผลต่อผู้ส่งออกมากนัก แต่ก็ถือว่าหายใจได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมามีแน้วโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคต และ จากที่คุยกับผู้ประกอบการเบื้องต้นจะรอดูสถานการณ์อีกสัก 2-3 สัปดาห์ว่ามาตรการที่ออกมาภายหลังจากนี้จะช่วยผู้ส่งออกได้หรือไม่ ซึ่งหากปล่อยไว้ให้ค่าเงินบาทแข็งต่อไปผลตามมาที่จะหลีกเลี่ยงไมได้คือส่งผลต่อการลงทุนในการผลิตทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียหาย หรือ อาจจะต้องหยุดกิจการสุดท้ายก็นำไปสู่ปลดคนงานออก
       
       นอกจากนี้แล้วการแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของไทยลดลง เพราะเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งกว่าเท่าตัว จึงต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง
       
       ด้านดุสิต นนทะนาคร เลขาธิการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ธปท.ออกมาตรการดังกล่าวเพราะมีความจำเป็นเพื่อป้องกันค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปให้เกิดความสมดุลที่ไม่ปล่อยให้ค่าเงินแข็งจนเกินไป แน่นอนที่ต้องมีผลกระทบตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะสั้น แต่เชื่อเถอะยังไงนักลงทุนต้องเข้ามาอยู่แล้วหากธปท.ปรับปรุงแก้ไขต่างๆให้เข้าที่เข้าทางแล้วยังไงเขาก็ต้องเข้ามาเหมือนเดิม อย่างไรก็ดีต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะเชื่อว่าธปท.จะมีมาตรการออกมาภายหลังในอีก 2-3วันนี้
       
       สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นจะมีผลให้การส่งออกสดในขึ้นนั้น ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดเพราะค่าเงินยังไม่เสถียรภาพผู้ประกอบการคงต้องรอดูสถานการ์ต่อไปอีกสักพัก
       
       **************
       
       แบงก์ชาติจ่าย"ยาแรง"สกัดค่าเงินบาท
       
       ต้นปี 2549 เงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่าชัดเจนมากขึ้น หลังเงินทุนต่างประเทศเริ่มไหลทะลักเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียและไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและกระทบต่อผู้ส่งออกโดยตรง
       
       การที่ค่าเงินบาทแข็งอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ทุบสถิติเก่าได้ในหลายครั้งหลายครา และล่าสุดทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี แข็งขึ้นจนเกือบหลุดระดับ 35 บาท ร้อนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องอัดยาระงับความร้อนแรงค่าบาทก่อนทำลายสถิติ ทิ้งทวนปีจอ
       ค่าเงินบาทไม่ใช่เริ่มแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมเท่านั้น แต่เงินบาทส่งสัญญาณการแข็งค่าตั้งแต่กลางปี 2548 หากแต่ระยะเวลาดังกล่าวยังไม่รุนแรงหรือส่อแววว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ถึงขั้นที่ ธปท. ออกโรงประกาศมาตรการช่วยเหลือดูแลค่าบาท แม้ผลกระทบส่วนหนึ่งเริ่มตกสู่กลุ่มผู้ทำธุรกิจส่งออกบ้างแล้วก็ตาม
       
       ผู้ชำนาญทางเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นเกิดจากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง และแนวโน้มดังกล่าวก็เห็นได้อย่างชัดขึ้นเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐราคาพุ่งขึ้นถึงขีดสูงสุดจนบางเบาใกล้สู่ฟองสบู่ที่พร้อมแตกได้ทุกเมื่อ ทำให้นักลงทุนนักเก็งกำไรทั้งหลายที่ทิ้งเม็ดเงินมหาศาลไว้ในสหรัฐเริ่มขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐ จึงพาเหรดถอนเม็ดเงินมาลงภูมิภาคเอเชียแทน
       
       สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นชัดในปลายปี 2548 จนปี 2549 วัดระดับความรุนแรงนั้นอยู่ในขั้นของการทุบสถิติ แบบรายสัปดาห์ และรายเดือน โดย ธันวาคม 2548 เงินบาทแข็งสุดในรอบสัปดาห์ 6 เดือน ซึ่งแตะอยู่ที่ระดับ 40.83บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังเห็นว่าค่าบาทยังไม่หลุดจาก 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั้งปลายเดือนมกราคม 2549 ค่าเงินบาทวิ่งไต่ขึ้นมาระดับ 39.12บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 เดือน
       
       ตอนนั้นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล่าว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรค่าเงินด้วย ไม่ใช่เงินที่ไหลเข้ามาเพื่อลงทุนระยะยาวเพียงอย่างเดียว พร้อมกับยอมรับอีกว่าในบางช่วงได้เข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินแข็งขึ้นเร็วเกินไป
       
       แต่ความร้อนแรงของเงินบาทที่แข็งค่าก็ยังไต่ระดับต่อเนื่อง แต่ยังนับว่าโชคดีที่ค่าเงินที่แข็งขึ้นนั้นได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าทั้งภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นไทยก็เป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ ผลจากตรงนี้ทำให้ความกังวลของภาคส่งออกยังไม่ถึงจุดตรึงเครียด เพราะระดับการแข่งขันยังไม่เสียไปตราบใดที่ภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบเยี่ยงเดียวกัน
       
       จะมีบ้างก็ความกังวลหากค่าเงินบาทแข็งค่าสูงกว่าค่าเงินอื่นๆ ภูมิภาคเอเชีย ผลจากตรงนี้กระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทยและทำให้เสียเปรียบคู่แข่งทางการค้ายิ่งขึ้น
       
       ยกตัวอย่างเช่น ค่าเงินบาท เมื่อ 9 มกราคม 2549 อยู่ที่ระดับ 39.775 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น0.73% ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 1.77% เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 1.06% เงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 1.16% และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 0.75% ก็จะทำให้การค้าขายของไทยไม่เสียเปรียบคู่แข่งมากนัก
       
       ปัญหาของผู้ส่งออกไทยหลังค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่องนั้น คือความสูญเสียที่ไม่สามารถรักษาระดับกำไรของผู้ประกอบการได้นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะว่า ควรนำเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่าง ๆ มาใช้ โดยรูปแบบที่ง่ายสุด คือการกระจายแหล่งตลาดส่งออก และลดการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
       การทำลายสถิติของค่าเงินบาทยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน 2549 ค่าบาทแตะ 37.96 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี ความกังวลของภาคธุรกิจ และรัฐเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น จากปลายปี 2548 ค่าเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มาเดือนเมษายน กระโดดมาอยู่ที่ 37.96บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงขึ้นถึง 8%เลยทีเดียว และเป็นการเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
       
       ปลายเดือนตุลาคม 2549 มาทุบสถิติเก่าอีกครั้ง ค่าบาทแตะที่ 36.86บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี และศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2549 ทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยในส่วนของภาคเอกชน และตลาดหุ้น มูลค่าสุทธิ 370,000 ล้านบาท ในขณะที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 อยู่ที่ 180,000 ล้านบาท ดังนั้นเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างถล่มทลายเช่นนี้จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว
       
       เหมือนได้ใจ ค่าเงินบาทยังคงแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำลายสถิติอีกครั้งในรอบ 9 ปี ที่ 35.26บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและกลายเป็นว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วขึ้นมาจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ เป็นทุนระยะสั้นที่มีการเคลื่อนย้ายอย่างผิดปกติ
       
       เพราะทันทีที่ ธปท. ออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรระยะสั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หลังตลาดหุ้นปิดทำการ ในวันรุ่งขึ้นมาตรการดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากนักลงทุนในตลาดหุ้นทัน โดยเทขายหุ้นจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงลง 62 จุด ในช่วง 5 นาทีแรกของการซื้อขาย ด้วยแรงเทขายหุ้นทุกตัวในกระดานในมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นโดยเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 665.09 จุด ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อย มาเคลื่อนไหวติดลบประมาณ 50 จุด
       
       ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเสียยิ่งกว่าการปฏิรูปการเมือง ยึดอาจรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ขนาดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ต้องใช้มาตรการห้ามการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาทีในช่วงเวลา 11.29-11.59 น.
       
       ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ยังบอกด้วยว่า มาตรการของ ธปท.ค่อนข้างรุนแรงมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจึงอยากให้มีการทบทวนมาตรการใหม่ โดยเน้นใช้มาตรการกับตลาดเงิน ตลาดทุน ที่พบการเก็งกำไรชัดเจนเป็นหลัก
       
       เช่นเดียวกับ วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลท. ที่เห็นตรงกันว่า มาตรการของธปท. ล่าสุดนั้น มีผลอย่างมากต่อตลาดหุ้น พร้อมเล่าเพิ่มเติมว่า ทำให้กองทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน ตลท.หายไป เนื่องจากมาตรการแบงก์ชาติมีข้อจำกัดต่อการลงทุน ทำให้การหาส่วนต่างผลตอบแทนเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีความสำคัญสำหรับตลาดหุ้นไทย เพราะจากข้อมูลของ ธปท.มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์
       
       โดยมาตรการล่าสุดที่ ธปท. ออกมาเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรระยะสั้น
       จนทำให้ค่าบาทแข็งมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน คือ การให้สถาบันการเงินตั้งสำรองเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 30% ส่วนอีก 70% แลกเป็นเงินบาท ซึ่งลูกค้าที่สถาบันการเงินกันเงินไว้ จะขอคืนเงินได้เมื่อครบกำหนด 1 ปี หากจะนำเงินกลับคืนก่อน จะได้รับเงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของเงินที่กันไว้ แต่ได้ยกเว้นให้แก่ผู้ส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศเมื่อนำเงินเข้ามา
       
       อย่างไรก็ตาม ธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวแม้จะได้ผลดีแต่อาจกระทบการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ค่าบาทจำต้องใช้มาตรการดังกล่าว
       
       "เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้แบงก์ชาติออกมาควบคุมเพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพ หลังจาก พบการนำเข้าเงินทุนระยะสั้นเพื่อการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นมาก โดยในเดือนพฤศจิกายน มีเงินทุนเข้าประเทศจากสัปดาห์ละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคมทำให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ และยังมีความผันผวน จึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ตามมาตรการณ์ที่ออก หากแต่มาตรการนี้ยกเว้นกับเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก หรือเงินที่นิติบุคคลไทยได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ"
       
       ส่วนก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทมาก่อนแล้ว ด้วยการห้ามสถาบันการเงินขายตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ให้กับผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (นอน-เรสซิเดนต์) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท
       
       ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นที่ร่วงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้ายที่สุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ตัดสินใจไม่นำเอามาตรการนี้มาใช้กับตลาดหุ้น คงไว้ควบคุมเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในตลาดพันธบัตรเท่านั้น


ผู้ตั้งกระทู้ dr กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2006-12-21 10:55:35 IP : 221.128.100.89


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (713176)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-07-18 14:55:33 IP : 203.146.127.159


ความคิดเห็นที่ 2 (748578)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-08-24 17:15:42 IP : 203.146.127.179



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.