ReadyPlanet.com


รวมข่าว " ดัชนีเศรษฐกิจ "


"บัณฑิต"ระบุน้ำมัน-การเมืองกระทบเศรษฐกิจไทย

22 พฤษภาคม 2549 19:21 น.
"รองผู้ว่าการธปท."ชี้ปัญหาราคาน้ำมันและการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ไตรมาส 4 สารพัดปัญหาจะเริ่มคลี่คลายลง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในการสัมมนาซึ่งจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าเศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี แต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว

จึงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ในภูมิภาคเอเชียต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตาม และจากการที่นักลงทุนเห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐกำลังจะถึงจุดสูงสุด ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ต้นปี ทำให้ภูมิภาคนี้มีค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ในส่วนของประเทศไทยไตรมาส 1 เศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างน่าพอใจ

เห็นได้จากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 17.9 แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น การบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนลดลง โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง แต่ก็ได้รับการชดเชยจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 จะออกมาน่าพอใจ

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจจะมีแนวโน้มลดลง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอื่น เช่น การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว อัตราการมีงานทำน่าพอใจ ภาคการผลิตไม่มีปัญหาข้อจำกัด แต่ผลที่ยังไม่ชัดเจนคือปัจจัยด้านราคาน้ำมันและปัจจัยการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งมองว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี เพราะต้องให้เวลากับการปรับตัวทางการเมืองเพื่อให้ตั้งต้นใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงร้อยละ 0.5 เพื่อสะท้อนปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง กนง.จะดูแลอย่างดีที่สุด เพราะถ้าเงินเฟ้อสูงจะมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อประชาชน รวมทั้งการใช้จ่ายของเอกชน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และอาจกระทบความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมานั้นได้ปรับขึ้นไปร้อยละ 1.75 ก็ไม่ได้ส่งผลเสีย เพราะเอกชนปรับตัวได้ดี สินเชื่อขยายตัว หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ได้เพิ่มมากและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงไม่กระทบฐานะการเงินภาคธุรกิจ

ขณะที่ดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ จึงถือว่าดอกเบี้ยไม่ได้สูงจนเป็นอุปสรรคในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินบาทที่ผ่านมายอมรับว่าแข็งค่าขึ้น แต่ผู้ส่งออกปรับตัวได้ดี ตัวเลขส่งออกมีการเติบโตและอัตราดอกเบี้ยกับค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่สอดคล้องกัน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2-4 จะเติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 น่าจะมีการใช้จ่ายในประเทศมากโดยเฉพาะการจ้างงาน การส่งออกเติบโต ภาวะสภาพคล่องดีขึ้น การเมืองคลี่คลาย



ผู้ตั้งกระทู้ musashi โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2006-06-16 15:49:39 IP : 202.139.204.2


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (398108)
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ"เม.ย."ลดลงทุกประเภทในรอบ 4 เดือน

30 พฤษภาคม 2549 12:06 น.
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ลดลงทุกประเภท และค่าดัชนีต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และเงินบาท

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนเมษายน 2549 ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ระดับ 94.5 จาก 108.5 ในเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีที่ได้มีค่าต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา

 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวลดลง

ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจาก 118.6, 116.9 และ 124.2 ในเดือนมีนาคม เป็น 109.7, 108.0 และ 113.6 เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 61.2 และ 117.1 ในเดือนมีนาคม เป็น 57.5 และ 101.7 ในเดือนเมษายนตามลำดับ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการสะท้อนความรู้สึกของผู้ประกอบการว่ากำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีดังกล่าวลดลง เป็นผลมาจากขณะทำการสำรวจในเดือนเมษายน สถานการณ์ราคาต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้า และทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง

โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือ SMEs ทั้งด้านการเงิน การตลาดให้มากขึ้น รวมถึงเข้ามาดูแลการเปลี่ยนแปลงระดับราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยเงิน***้ให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนเมษายน 2549 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงสอดรับกับค่าดัชนีใน 5 ปัจจัยหลัก และเมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนมีนาคมกับเดือนเมษายน 2549

โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง 24 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 11 กลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 108.0, 114.4, 98.8 และ 102.3 ในเดือนมีนาคม เป็น 90.1, 99.0, 94.4 และ 85.5 ในเดือนเมษายนตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 112.4 ในเดือนมีนาคม เป็น 115.4 ในเดือนเมษายนตามลำดับ

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:24:52 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 2 (398109)
"ธปท."แถลงศก."เม.ย"การลงทุน-บริโภคชะลอลง

31 พฤษภาคม 2549 17:57 น.
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2549 โดยเศรษฐกิจโดยรวมเดือนเมษายน 2549 ด้านอุปสงค์ชะลอตัวจากเดือนก่อนทั้งเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

  อย่างไรก็ตาม การส่งออกและรายได้รัฐบาลยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี

 ด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตด้วย ส่วนด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศดดยรวมขยายตัวในเกณฑ์ดีจากระยะเดียวกันปีก่อน

 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 49 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 71.3 ลดลงจาก ร้อยละ 80.5 ในเดือนก่อน

 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 ชะลอตัวร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคกือบทุกตัวชะลอตัวจากเดือนก่อน

 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร

ภาคการคลังเดือนเมษายน 2549 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 127.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.7 ตามการนำส่งรายได้รัฐพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่รายได้ภาษีขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอตัวของภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ สำหรับดุลเงินสดรัฐบาลในเดือนนี้เกินดุลเป็น เดือนแรกในปีงบประมาณ 2549 จำนวน 10.6 พันล้านบาท

ภาคต่างประเทศเดือนเมษายน 2549 ดุลการค้าขาดดุล 520 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการส่งออกที่ขยายตัว ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 คิดเป็นมูลค่า 9,122 ล้านดอลลาร์ สรอ. สินค้าออกสำคัญที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยานพาหนะและชิ้นส่วน

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 9,642 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.1 สินค้านำเข้าที่ลดลงที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะและชิ้นส่วน เครื่องจักร เหล็กและเคมีภัณฑ์ ส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ขยายตัวสูงทั้งราคาและปริมาณ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 238 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เกินดุล 298 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายจ่าย ผลประโยชน์การลงทุนและรายจ่ายท่องเที่ยวขาออกที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 283 ล้านดอลลาร์ สรอ. ดุลการชำระเงิน เกินดุล 811 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2549 อยู่ที่ระดับ 57.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจำนวน 5.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ตามราคาในหมวดอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก ส่วนราคาในหมวดพลังงานชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงในประเทศ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ และการสื่อสาร ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ภาวะการเงินในเดือนเมษายน 2549 เงินฝากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 93.0 พันล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการแข่งขันระดมเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มข้น

โดยมีการเสนอผลิตภัณฑ์พิเศษและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อจูงใจผู้ฝากเงิน สำหรับสิทธิเรียกร้องจาก ภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์1/ ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อหักผลของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่และบวกกลับผลของการตัดหนี้สูญสินเชื่อออกจากบัญชีและการโอนทางบัญชีกับ AMC แล้ว ขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ฐานเงินขยายตัวร้อยละ 6.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงิน M2 M2a และ M3 ขยายตัวร้อยละ 12.9 9.1 และ 9.3 ตามลำดับ และอยู่ในแนวโน้มที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่าง ธนาคารระยะ 1 วันปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนในขนาดที่ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2549

ในช่วงวันที่ 1-26 พฤษภาคม 2549 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ ใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี

ค่าเงินบาทในเดือนเมษายน 2549 โน้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดทั้งเดือน และทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีที่ระดับ 37.47 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยหลักจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ไทยจำนวนมาก เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือน ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 37.99 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยของเดือนก่อนร้อยละ 2.5

ระหว่างวันที่ 1-26 พฤษภาคม 2549 ค่าเงินบาทเริ่มปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลักที่ไม่ใช่ดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากนักลงทุนต้องการลดความเสี่ยง จึงลดการลงทุนใน Emerging Markets ลงบ้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:27:06 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 3 (398110)
สศอ.สรุปภาพรวมปิโตรเคมีไตรมาสแรกไปได้ดี

1 มิถุนายน 2549 11:05 น.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 1 ปีนี้ มีทิศทางที่ดี

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หลังผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยควบรวมกิจการสำเร็จ ส่งผลให้เกิดการผลิตและส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.42

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า สศอ.สรุปรายงานภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2549 พบว่า โดยภาพรวมยังมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2548 ซึ่งภาวะการผลิตปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 มีบริษัทผู้ผลิตเอทิลีนแครกเกอร์รายใหญ่ในประเทศที่มีกำลังการผลิตขนาด 800,000 ตันต่อปี กลับเข้ามาเดินเครื่องผลิตอีกครั้งหลังปิดซ่อมบำรุงนาน 1 เดือน

นอกจากนี้ ผู้ผลิตโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบันมีการควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ ทำให้มีกำลังการผลิตเอทิลีนรวม 1,146,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 377,000 ตันต่อปี โดยได้เริ่มเดินเครื่องหน่วยแรกแล้วในปี 2549 และจะเริ่มเดินเครื่องหน่วยที่ 2 ได้ในปี 2551 ส่งผลต่อภาวะการผลิตปิโตรเคมีในภาพรวมของไตรมาสที่ 1 มีปริมาณเพิ่มขึ้น

นางอรรชกา กล่าวว่า ในไตรมาสแรกปี 2549 ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายมีทิศทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนปิโตรเคมีขั้นต้นมีการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 โดยปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 7,502.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.42 ปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 37,416.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.48 ส่วนปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 6,951.57 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.25 เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินบาทและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น

สำหรับไตรมาส 1 ปี 2549 การนำเข้าปิโตรเคมีมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 เนื่องจากปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นปลายจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีทิศทางขยายตัว โดยการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,318.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 376.01 ปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 16,518.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.26 ส่วนปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 10,118.49 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.57 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของโลกยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องได้อีกใน 4-5 ปี

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:28:57 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 4 (398111)
สศอ.ชี้ดัชนีอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1โต25%

5 มิถุนายน 2549 15:26 น.
"สศอ."เผยดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสแรก ขยายตัว 25 %เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความสนใจจากตลาดโลกต่อเนื่อง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :  นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2549 ว่า ภาพรวมของภาวะการผลิตและจำหน่ายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 มีการขยายตัวได้ดี ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านเข้ามากระทบ

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.24 ซึ่งสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ Other IC , Monolithic IC และ Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.64 , 22.92 และ 30.47 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัว สินค้าหลักที่ดึงให้ความต้องการอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ขยายตัวถึงร้อยละ 31 และ 13 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยังคงทรงตัวโดยดัชนีการผลิตลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.85 ซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาล เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าในช่วงปลายปี เพื่อทำยอดก่อนปิดบัญชี จึงทำให้ไตรมาสที่ 1 มีการชะลอการผลิตลงจากเดิมเล็กน้อย

ส่วนภาวะการตลาดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1 พบว่าดัชนีการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.44 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของ Other IC , Monolithic IC และ HDD แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 2.86 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะลดลงในช่วงต้นปี เนื่องจากไตรมาสก่อนได้ส่งสินค้าเพื่อป้อนตลาดไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับภาวะของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกด้วยเช่นกัน

นางอรรชกา กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้ดี โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2549 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 237,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งสินค้าสำคัญที่ผลักดันให้มีการขยายตัว คือ

 คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและวงจรรวม ไมโครแอสแซมบลี (Integraed Circuit) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.59 และ 43.48 ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2549 เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา หลังจากที่มีการชะลอในช่วงไตรมาสที่ 1 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 จะมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างมากตามความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นแรงกระตุ้นตลาดให้มีเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่เร็วขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลง คือ ปริมาณสินค้าคงคลังที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของการบริโภคในตลาด รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงควรติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขันต่อไป

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:30:53 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 5 (398112)
สศอ.เผยอุตสาหกรรมไทยแกร่งดัชนีอุตฯ พุ่ง 5.32%

7 มิถุนายน 2549 15:46 น.
สศอ.ชี้อุตสาหกรรมไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เผยคอมพิวเตอร์-ยานยนต์ยอดการผลิตและการส่งออกไปได้ต่อ ส่งผลให้ดัชนีอุตฯเดือนเม.ยพุ่ง 5.32% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า สศอ.ได้จัดทำดัชนีอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2549 โดยเก็บข้อมูลจาก 2,121 โรงงาน 53 กลุ่มอุตสาหกรรม 215 ผลิตภัณฑ์ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 143.45 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่ระดับ 136.20 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.2

สำหรับในเดือนเมษายน ดัชนีอุตสาหกรรมมีการปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 147.77 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 129.95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 173.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.32 และดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 137.49 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมที่มีการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 143.65 ลดลงร้อยละ 3.67 และดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 105.52 ลดลงร้อยละ 0.19

นางอรรชกา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย ถึงแม้จะมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเดือนนี้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่สำคัญ คือ การผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การผลิตยานยนต์และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตสินค้าในกลุ่มมีการขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 23.5 เนื่องจากปีก่อน มีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ยังไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในปีนี้สามารถผลิตได้มากขึ้น อีกทั้งแรงสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี Hard Disk Drive ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการใช้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน

ส่วนการผลิตยานยนต์ในเดือนเมษายนถึงแม้จะมีวันทำงานที่น้อยลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลหยุดสงกรานต์ ทำให้ส่งผลต่อปริมาณการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งทั้งบริษัทผู้ผลิตรวมถึงตัวแทนจำหน่ายได้ชะลอคำสั่งซื้อเพราะต้องให้ผ่านช่วงเทศกาลไปก่อน

อย่างไรก็ตาม การผลิตยานยนต์ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุก 1 ตัน ที่มี***ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 จากเมื่อเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มี***ส่วนการส่งออกร้อยละ 37 และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการผลิตและจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปีนี้มีทิศทางขยายตัวได้ดี เนื่องจากแรงสนับสนุนของการขยายตัวในตลาดโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ IC Monolithic และ Other IC ยกเว้นหลอดภาพสำหรับจอโทรทัศน์และหลอดคอมพิวเตอร์ ซึ่งความต้องการของตลาดลดลง

นางอรรชกา กล่าวอีกว่า ในเดือนเมษายนยังมีอุตสาหกรรมที่มีการผลิตและจำหน่ายลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนที่สำคัญ คือ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่ม ซึ่งการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐานเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนมีการผลิตและจำหน่ายที่ชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัว ซึ่งเริ่มส่งผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็ก รวมทั้งภาวะต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายเหล็กลดลง การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์รวมทั้งน้ำดื่ม การผลิตและจำหน่ายโดยรวมในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มลดลงไปด้วย โดยผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากการดื่มเหล้าที่ต้องผสมโซดาและน้ำ ซึ่งมีความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงหันไปบริโภคเครื่องดื่มชนิดอื่นแทน เช่น เบียร์ เป็นต้น.-

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:33:09 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 6 (398113)
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. ลดต่ำสุดในรอบ 4 ปีอยู่ที่ 75.5

8 มิถุนายน 2549 16:05 น.
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพ.ค ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในเดือนถัดไป สาเหตุมาจากการเมือง-ราคาน้ำมัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม ยังคงลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 75.5 ลดลงจาก 76.7 ในเดือนเมษายน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 49 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 76.4 ลดลงจาก 77.2 ในเดือนเมษายน ต่ำสุดในรอบ 42 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 92.6 ลดลงจาก 93.7 ในเดือนเมษายน “สัญญาณที่เกิดขึ้นเวลานี้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับลดลง เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการบริโภคที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 น่าจะลดลงต่อเนื่อง และจะไปฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 4 หรือช่วงใกล้ปีใหม่ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคมนี้” นายธนวรรธน์ กล่าว

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังระบุด้วยว่า การปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคม ยังไม่ใช่จุดต่ำสุด และคาดว่าในเดือนถัดไปจะยังปรับลดลงต่อเนื่อง เพราะคนยังมีความกังวลปัจจัยทางการเมืองและราคาน้ำมันเป็นหลัก และปัจจุบัน ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันเริ่มมีความกังวลมากขึ้น มาอยู่ที่ร้อยละ 93.5 จากที่อยู่ระดับร้อยละ 80 ในเดือนเมษายน สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคม แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายไปบ้าง แต่ปัจจัยลบมีมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นลิตรละ 1.15 บาท ส่งผลให้น้ำมันเบนซิน 95 ขึ้นมาแตะระดับสูงสุด 29.89 บาทต่อลิตร

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากร้อยละ 4.5-5.5 เหลือร้อยละ 4.5-5.0 รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังเกิดขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากความกังวลและความเชื่อมั่นที่ลดลง ทำให้ความเชื่อมั่นที่จะซื้อสินค้าคงทน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือลงทุนทำธุรกิจก็ลดลงด้วย

 นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ โดยจะลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4-4.5 เพราะต้องประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกและการขยายตัวด้านการลงทุนที่คาดว่าจะหดตัวลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8-10 ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางสังคม หรือดัชนีความสุขของคนไทย โดยดัชนีอยู่ที่ 88.2 และใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 88 ดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 48.3

 ส่วน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 48.4 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 100 มาก ดัชนีเกี่ยวกับยาเสพติดเท่ากับ 44.3 อีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 47.9 ดัชนีเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 51.4 ส่วน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 54.5 และดัชนีเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง อยู่ที่ 24.4 และ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 32.6 แสดงให้เห็นว่า คนไทยยังรู้สึกว่า ความสุขในปัจจุบันอยู่ในระดับแย่


ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:34:51 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 7 (398114)

สศอ.เร่งศึกษา 10 สาขาอุตสาหกรรมไทย

15 มิถุนายน 2549 17:40 น.
สศอ.เร่งศึกษาหาทางให้ 10 สาขาอุตสาหกรรมไทย มีการพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ โดยร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาการรายงานผลการศึกษาโครงการศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5-9 มีนโยบายที่จะพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย

ดังนั้น ทาง สศอ. ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เร่งศึกษาโครงสร้างพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ โดยเน้นใน 10 สาขาอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ยาง แฟชั่น (สิ่งทอ) เซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและโลหการ เครื่องจักรกลการเกษตร และอุตสาหกรรมยา ซึ่งการศึกษาจะเสร็จในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ หลังจากนั้น สศอ.จะนำไปกำหนดยุทธศาสตร์และปรับใช้เพื่อเร่งพัฒนากำลังคนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป แต่จะต้องร่วมกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องเร่งศึกษาในเชิงลึกเปรียบเทียบกับประเทศต้นแบบที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งศักยภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศและเปรียบเทียบ เพื่อปูพื้นฐานให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยโดยมุ่งสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับการศึกษาจะศึกษา 10 สาขาอุตสาหกรรมกับประเทศเจ้าของสุดยอดเทคโนโลยีและกำลังคนในเอเชีย และประเทศจี 8 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเทียบกับประเทศญี่ปุ่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เทียบกับประเทศอิตาลีและจีน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-06-17 17:36:41 IP : 202.139.204.2


ความคิดเห็นที่ 8 (399187)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2006-06-25 04:37:10 IP : 38.99.203.110


ความคิดเห็นที่ 9 (402130)
เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.พุ่ง 5.9%

4 กรกฎาคม 2549 15:12 น.
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มิถุนายน 2549 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2549

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

        กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2549 โดยสรุป

        จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

       1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549
       ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 115.1 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2549 เท่ากับ 115.1 เช่นกัน
       2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนพฤษภาคม 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
       2.2 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.9
       2.3 เทียบเฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2549) กับช่วงเดียวกัน
       ของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.9
       3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) แสดงถึง
      
       แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออ่อนตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญที่มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครี่องดื่มลดลงร้อยละ 1.1 แต่ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 สาเหตุหลักยังคงเป็นดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ถึงแม้จะเป็นอัตราที่น้อยกว่าเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.8)

       " ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีราคาผักสดร้อยละ 13.7 โดยเฉพาะ มะนาว ลดลงร้อยละ 64.0 ผลไม้สดลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางชนิดที่มีราคาลดลงได้แก่ ไก่สด นมข้นหวาน ครีมเทียม และน้ำมันพืช เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และไข่ไก่ 

       " ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5 ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2.4 ค่ากระแสไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีการปรับค่า Ft สูงขึ้น 9.60 สตางค์ต่อหน่วย ค่าโดยสารเครื่องบิน (ภายในประเทศ) สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ผลจากการที่ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากมาตรการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ส่งผลให้สินค้าหลายชนิดมีราคาลดลงได้แก่ น้ำมันใส่ผม ครีมนวดผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม แปรงสีฟัน และผ้าอนามัย เป็นต้น 

       4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนมิถุนายน 2548 ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงร้อยละ 5.9 (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 6.2) จากการสูงขึ้น ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.6 (พฤษภาคมสูงขึ้นร้อยละ 5.7) หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.6 

       5. ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.9 สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 6.7 ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นเพียงร้อยละ 4.6

       6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของ***ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
      
       ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 104.8 เมื่อเทียบกับ
       6.1 เดือนพฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
       6.2 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.7
       6.3 ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม - มิถุนายน 2549) เทียบกับ
       ช่วงเดียวกันของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.7


ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-07-12 00:46:47 IP : 202.139.199.129


ความคิดเห็นที่ 10 (402133)
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม"พ.ค." ชะลอตัวต่อเนื่อง

4 กรกฎาคม 2549 14:43 น.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะมีหลายปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้น และสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สอง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะมีหลายปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้น และสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สอง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 521 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 94.3 จาก 94.5 ในเดือนเมษายน

โดยค่าดัชนีที่ได้มีค่าต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน นับจากเดือนเมษายน แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก เนื่องจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 4 ใน 5 ปัจจัยปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และต้นทุนการประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของผลการประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคม ผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลทำให้ภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ เพราะภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่สินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเช่นกัน ซึ่งสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลง

นายสันติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งด้านการเงิน การตลาดให้มากขึ้น และหาแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการเห็นค่าเงินบาทที่ 39.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอมรับแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งวันนี้แข็งค่าขึ้นไปแตะ 38.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส.อ.ท.จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการส่งออกทำประกันความเสี่ยงและหารือกับธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะจัดสัมมนาและเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ผู้ประกอบการต้องการเห็นราคาที่ 21.70 บาทต่อลิตร แต่ยอมรับเป็นเรื่องลำบาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1-49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50–199 คน มีความเชื่อมั่นระดับที่ลดลง โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีความเชื่อมั่นลดลง


ผู้แสดงความคิดเห็น musashi วันที่ตอบ 2006-07-12 00:53:36 IP : 202.139.199.129


ความคิดเห็นที่ 11 (713187)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-07-18 14:55:39 IP : 203.146.127.159


ความคิดเห็นที่ 12 (748528)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-08-24 17:12:49 IP : 203.146.127.179



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.