ReadyPlanet.com


กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ในปี่ที่ผ่านมา ตอนนี้ขาดทุนเป็นส่วนไหญ่


สูตรใหม่ "ลงทุนนอก" ขจัดเสี่ยง เน้นซอฟต์คอมมอดิตี้-หุ้นเกิดใหม่

ที่มา: bangkokbizweek.com  วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 
จะฝ่าวิกฤติซับไพรม์อย่างไร เมื่อต้องออกไปเผชิญลงทุนนอกประเทศ ผ่านกองทุน "เอฟไอเอฟ" .. ผู้จัดการกองทุนแนะทางออกลดความเสี่ยงไปลงทุนนอกของปีนี้ ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนใหม่ด้วยหลักกระจายลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ และเน้นลงทุนใน "Soft Commodities"

พร้อมให้เบนเข็มลงทุน "กองทุนหุ้น" ของประเทศเกิดใหม่เช่นภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

วิกฤติซับไพรม์สหรัฐเริ่ม "พ่นพิษ" ใส่กองทุนหุ้น "เอฟไอเอฟ" จนเกิดผลขาดทุนระนาว โดยเห็นได้จากผลตอบแทนกองทุนในรอบ 1 เดือนนับแต่ต้นศักราชปี 2551 ถึงสิ้นเดือนมกราคม (Year to Date) จากการวัดผลและจัดอันดับโดย Lipper

ผู้ลงทุนเริ่มเกิดตัวเลข "สีแดง" แสดงผลขาดทุนให้เห็นเด่นชัดขึ้นแล้วถึง 42 กองทุนหุ้น จากกองทุนหุ้นทั้งหมดที่มีขณะนี้ 44 กองทุน

กองทุนหุ้นเอฟไอเอฟที่ให้ผลตอบแทน "สูงสุด" อยู่ที่ 8% แต่ "ต่ำสุด" ติดลบ 21% ทีเดียว

มีเพียง 2 กองทุนเท่านั้นที่ยังให้ผลตอบแทนเป็น "บวก" หรือนักลงทุนยังพอมีกำรี้กำไรอยู่พอควร

นั่นคือ กองทุนเปิด "ทหารไทย โกลด์ ฟันด์" ของบลจ.ทหารไทย ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 7.86% ไล่ตามมาด้วยกองทุนเปิด "หน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้" ของ บลจ.ฟินันซ่า 5.62%

ในขณะที่กองทุนเอฟไอเอฟของค่ายอื่นๆ อีก 42 กองทุน จะมีผล "ขาดทุน"

กองทุนเปิดที่ให้ผลขาดทุนมากสุด 3 อันดับ คือ กองทุนเปิด UOB Smart Greater China ของ บลจ.ยูโอบี (ไทย) -21.34% ตามติดด้วยกองทุนเปิด "ทหารไทย China Equity Index" ของ บลจ.ทหารไทย -19.90% และกองทุนเปิด "ยูโอบี สมาร์ท เอเชีย" ของ บลจ.ยูโอบี (ไทย) -18.08%

"วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) บอกว่า การที่เอ็นเอวีลดลงมาอยู่ที่ 8 บาท โดยผลตอบแทนของกองทุนติดลบกว่า 20% เป็นผลจากตลาดหุ้นจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ ทำให้นักลงทุนขายหุ้นออก

แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก จึงมองว่าตลาดหุ้นจีนยังเติบโตต่อและไปได้ดี

"กองทุน UOB Smart Greater China เป็นกองทุนที่เน้นขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนในประเทศจีน และลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการใช้จ่ายภายในประเทศจีน จึงเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักในระยะยาว"

เขาแนะนำว่า เมื่อการลงทุนในประเทศจีนยังไปได้ดี น่าจะเป็นโอกาสของการลงทุนเพิ่มในจังหวะที่เอ็นเอวีของกองทุนปรับตัวลดลง จึงควรเป็นโอกาสซื้อเพิ่ม เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนเดิมและถือระยะยาวมากกว่า

ส่วนธีมลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟในปีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาลุกลามของวิกฤติซับไพรม์ ในมุมมองของวนา ให้แนวทางว่า ผู้ลงทุนที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศช่วงปีนี้ ควรจะเน้นธีมการลงทุนเลี่ยงความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว โดยให้เน้นลงทุนในประเทศเกิดใหม่ และเน้นลงทุนในจีน ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเงินทุนสำรองสูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ และยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่

"นักลงทุนควรเลือกเอฟไอเอฟที่มีนโยบายการลงทุนหรือธีมลงทุนชัดเจน เช่น ลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่เน้นลงทุนในธุรกิจการบริโภค และใช้จ่ายภายในประเทศ ตลอดจนดูผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ทั้งช่วงตลาดขาลงและขาขึ้นให้เห็นครบวงจร เพื่อรู้ว่าผู้จัดการกองทุนหลักเก่งทั้งสองขาหรือไม่

ในปีนี้เราแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างละ 50% ส่วนของการลงทุนต่างประเทศ ให้เน้นลงทุนในตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เช่น ตลาดเอเชีย เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงซับไพรม์ โดยเน้นตลาดหุ้นจีนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหรัฐเกินไป" วนากล่าว

เช่นเดียวกับ.. "ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ.อยุธยา ให้แนวทางว่า ในภาวะที่การลงทุนมีความเสี่ยงจากวิกฤติซับไพรม์ นักลงทุนควรจะหาสินค้าลงทุนที่มีความปลอดภัย เช่น ลงทุนในพันธบัตรในประเทศ

แต่อีกด้านหนึ่งก็ควรหาสินทรัพย์ลงทุนที่เติบโต อย่างการออกไปลงทุนในตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เช่น ตลาดหุ้นเอเชีย เป็นทางเลือกลงทุนที่ดีปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตสูง หลายประเทศมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์

"เมื่อตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง น่าจะเป็นโอกาสลงทุนเพื่อถือระยะยาว หากตัดสินใจลงทุน 3-5 ปี ตลาดหุ้นเอเชียยังน่าลงทุนมากสุด โดยควรเริ่มลงทุนในจังหวะที่น่ากลัวเช่นนี้"

นอกเหนือจากเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียแล้ว ประภาสแนะนำว่า สินค้าโภคภัณฑ์ประเภท "Soft Commodities" ของเอเชีย เป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนและให้ผลตอบแทนที่ดีในปีนี้ เนื่องจากการที่เศรษฐกิจยังเติบโต ทำให้การบริโภคมีความต้องการมากขึ้น

ด้าน "โชติกา สวนานนท์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย บอกว่า หัวใจของการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศในปี 2551 อยู่ที่การกระจายการลงทุน หรือการจัด "Asset Allcation" อย่างถูกต้องและตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนและผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์สหรัฐ

ในมุมมองของโชติกาเห็นว่า แม้ความผันผวนในต่างประเทศจะมีสูง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ซึ่งจะมีความผันผวนและเสี่ยงสูงกว่าตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่หากรู้จักกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จะทำให้ลดความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการกระจุกอยู่กับสินทรัพย์หรือตลาดเดียว

"ธีมการลงทุนปีนี้ เราแนะนำให้กระจายความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตของตัวเองตามความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคน โดยควรลงทุนในหุ้นไทยและต่างประเทศสัดส่วนเท่าๆ กัน ด้วยการจัด Asset Class ที่มีทั้งเงินสด หุ้น อสังหาฯ และสินค้าคอมมอดิตี้ ในสัดส่วนที่ผสมผสานกันไป

แต่สำหรับปีนี้อาจจะโอเวอร์เวท (เพิ่มสัดส่วนลงทุน) ในสินค้าคอมมอดิตี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการอ่อนค่าเงินดอลลาร์"

โชติกาบอกว่า เงินส่วนลงทุนในต่างประเทศ (50% ของพอร์ต) ให้กระจายลงทุนหลายประเทศ โดยแยกเป็นเงินลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 5% และกองทุนที่ลงทุนในประเทศอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต 45%

ส่วนประเทศที่น่าลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจลงทุนนั้น โชติกาบอกว่า ประเทศอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต โดดเด่นที่น่าลงทุน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี อินเดีย และบราซิล

"เราชื่นชอบจีน เพราะเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูง แต่ต้องระวังการลงทุนในดัชนี A-Share ที่แม้ว่าจะมีสภาพคล่องดี แต่ราคาหุ้นอาจเกินมูลค่าที่แท้จริง ส่วนดัชนี S-Share ต้องระวัง เพราะอาจไม่ใช่ตัวแทนการลงทุนที่ดีของจีน

ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลี ยังมีหุ้นราคาถูกและต่ำกว่ามูลค่า และเศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วมาก ส่วนอินเดียยังเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีประชากรจำนวนมาก รวมถึงบราซิล แม้ราคาหุ้นจะขึ้นมาสูงแล้ว แต่การมีประชากรมากและการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจโตไปได้"

การออกไปลงทุนยังนอกประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ จึงยังเป็นโอกาสของผู้ลงทุนไทยในจังหวะที่ราคาปรับตัวลงท่ามกลางวิกฤติซับไพรม์สหรัฐที่ส่งผลทางจิตวิทยาลงทุนต่อภูมิภาคเอเชีย

ขณะทิศทางการลงทุนใน "ตราสารหนี้" หรือพันธบัตรต่างประเทศสำหรับปีนี้ กลับเป็นสินค้าลงทุนที่ไม่น่าจูงใจ เช่นปีที่ผ่านมา

"หลังจากที่ดอกเบี้ยสหรัฐปรับตัวลดลง และตลาดมีการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าได้น้อยลง ทำให้การหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้นอกประเทศ เช่น ตราสารหนี้อีซีพีลดลงจากเดือนธันวาคม 2550 ได้รับผลตอบแทน 3.4-3.6% สำหรับตราสารอายุ 3-6 เดือน แต่ช่วงนี้เหลือเพียง 2.8-2.9% เท่านั้น ใกล้เคียงกับผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศ ทำให้ไม่น่าสนใจลงทุนอีกต่อไป"

การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นปีที่ผ่านๆ มา

โชติกาบอกว่า โอกาสที่จะได้รับส่วนต่างจากการลงทุนแคบลง และหาได้ยากในหลายประเทศ แม้ในบางประเทศจะยังให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่จะมีความเสี่ยงสูงในเรื่องค่าเงินกรณีที่กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

"ผู้ลงทุนอย่าอยู่ในตลาดเงินเพียงตลาดเดียว เพราะจะมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ จึงเป็นหัวใจหลักของการลงทุนในปีนี้" โชติกากล่าว



ผู้ตั้งกระทู้ dr กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-02-23 20:56:05 IP : 58.9.8.224


Copyright © 2010 All Rights Reserved.