ReadyPlanet.com


รายชื่อคณะรัฐมนตรี สมัคร1


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะ รมต. ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็น นายกรัฐมนตรี แล้ว โดยมีรายนามดังต่อไปนี้

  • นายสมัคร สุนทรเวช เป็น นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
  • พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็น รองนายกรัฐมนตรี
  • นายสหัส บัณฑิตกุล เป็น รองนายกรัฐมนตรี
  • นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม
  • นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
  • นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
  • นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ
  • นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • นายจักรภพ เพ็ญแข เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • นายนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ
  • นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็น รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
  • นายสุธา ชันแสง เป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์
  • นายธีระชัย แสนแก้ว เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์
  • นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์
  • นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คมนาคม
  • นายอนุรักษ์ จุรีมาศ เป็น รมช.คมนาคม
  • นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็น รมช.คมนาคม
  • นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • นายมั่น พัธโนทัย เป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.พลังงาน
  • ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.มหาดไทย
  • นายสุพล ฟองงาม เป็น รมช.มหาดไทย
  • นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เป็น รมช.มหาดไทย
  • นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็น รมว.ยุติธรรม
  • นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็น รมว.แรงงาน
  • นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง เป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็น รมว.วัฒนธรรม
  • นายพงศ์กร อรรณนพพร เป็น รมช.ศึกษาธิการ
  • นายบุญลือ ประเสริฐโสภา เป็น รมช.ศึกษาธิการ
  • นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็น รมว.สาธารณสุข
  • นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็น รมช.สาธารณสุข
  • พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็น รมช.พาณิชย์
  • นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็น รมช.พาณิชย์
  • นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็น รมช.คลัง
  • ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็น รมช.คลัง
  • นำมาให้ไว้ดูแล่นๆ ครับ เป็นความรู้รอบตัว เผื่อแอบดูนามสกุลผู้ถือหุ้นในตลาด ว่าตรงกับหุ้นตัวใด



    ผู้ตั้งกระทู้ dr กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-02-08 09:48:11 IP : 58.64.90.243


    [1]

    ความคิดเห็นที่ 1 (955332)
    "กุนซือ" เบื้องหลัง ครม.เศรษฐกิจ

    เศรษฐกิจไทยแห้งเหือดมากว่า 2 ปี กำลังซื้อหด ความเชื่อมั่นหาย สถานการณ์เหงาหงอยทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่ว ความหวังถูกฝากไว้กับ "รัฐบาลใหม่" ภายใต้การนำของ "สมัคร สุนทรเวช"

    จังหวะนี้ถือเป็น "โชค" ของ "รัฐบาลสมัคร 1" ซึ่งชิมลางกับ 2 นโยบายหลักที่ปล่อยออกมาแล้ว "โดน" ทั้งคู่

    ทั้งประชานิยมสูตรใหม่ ผ่านโครงการเอสเอ็มแอล รวมทั้ง กลไกการเงินของรัฐ และ อภิมหาเมกะโปรเจค 2 ล้านล้านบาท กับ 3 โครงการใหญ่ รถไฟฟ้า 5 สาย , โลจิสติกส์เชื่อมต่อภูมิภาคอินโดจีน และ ระบบชลประทานอีสาน

    เหล่านี้คือ เรื่องที่ "ทำไม่เสร็จ" ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลายมาเป็นแนวทางที่ สร้างความฮือฮาให้กับนโยบายเศรษฐกิจ "สมัคร 1"

    ที่ว่าเป็นโชคของ "สมัคร 1" เพราะไม่เคยมียุคใดสมัยใด จะมีเสียงเรียกหา "ประชานิยม" อย่างพร้อมเพรียง ทั้งจากตัวแทนภาคเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม แม้แต่ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" ซึ่งยึด "เสถียรภาพทางการเงิน" เป็นสรณะ ยังบอกว่าถึงเวลาต้อง "กระตุ้นเศรษฐกิจ"

    โชคอีกประการ มาจากสถานการณ์ของประเทศที่ต้องการ การลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อวางรากฐานให้กับประเทศครั้งใหม่

    ที่สำคัญ ทั้งประชานิยม และ เมกะโปรเจค ล้วนเป็น "สูตรสำเร็จ" เป็น "อาหารจานด่วน" ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลชะงัด

    แต่จะปั้นทั้ง 2 ฝันที่ขายแล้ว "โดนใจ" ประชาชนได้สำเร็จ รัฐบาลสมัคร 1 ต้องเดินหน้านโยบายการเงิน-การคลัง อย่างเฉียบคม มีเทคนิคชั้นเยี่ยม เพื่อเฟ้นหาช่องทางการเงิน ตอบสนอง 2 นโยบายใหญ่ ไม่ว่าจะใน หรือ นอกงบประมาณ

    นั่นเป็นเหตุผลให้ รัฐบาลนี้ ต้องใช้ "มือการเงิน" ระดับพระกาฬ ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ในรายชื่อ คณะรัฐมนตรี

    "ตัวจริง" ทีมเศรษฐกิจ จึงหนีไม่พ้น ระดับเซียนที่เข้าใจเรื่อง การเงิน-การคลัง

    วงใน ระบุว่า ในจำนวนทีมเศรษฐกิจเบื้องหลัง ครม.นอมินี ล้วนเป็น "มือดี" ที่เคยปั้นฝันให้ไทยรักไทยสำเร็จมาแล้ว และ วันนี้ พร้อมจะสานต่อไปสู่ "พลังประชาชน"

    ฟากหนึ่งของ กองบัญชาการ เบื้องหลัง ครม.เศรษฐกิจ คือ “นักคิด” ขุมกำลังปั้นโปรเจค อย่าง น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์

    อีกฟากคือ นักการเงิน และ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมองทะลุปรุโปร่งถึงกลไกการเงิน-การคลัง ของประเทศ แกนนำในกลุ่มนี้ เริ่มตั้งแต่ ดร.ทนง พิทยะ นิพัทธ พุกกะณะสุต วิจิตร สุพินิจ และ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช

    "หมอมิ้ง" มือวางด้านยุทธศาสตร์

    ถ้ามองหาคน "คิดการใหญ่" ต้องไม่ลืม นักยุทธศาสตร์อย่าง น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

    "หมอมิ้ง" จัดว่าเป็นคนใกล้ชิดบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็น "สายตรง" ระดับร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

    เขาถูกจัดวางไว้ในแถวหน้าในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จากเลขานายกรัฐมนตรี "หมอมิ้ง" กระโดดขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งในสายตา ดร.ทักษิณ "หมอมิ้ง" ประสบความสำเร็จไม่น้อยในตำแหน่งเจ้ากระทรวงพลังงาน

    แม้จะอยู่ในรายชื่อ 111 พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิการเมือง แต่ "หมอมิ้ง" ไม่ได้เงียบหายไปไหน เพราะวงในระบุว่า

    นักยุทธศาสตร์ อย่าง "หมอพรหมินทร์" ยังคงทำงานที่ตัวเองถนัด และได้รับความไว้วางใจ เพราะเขานั่นแหละ คือ "ตัวจริง" เบื้องหลังการวาง โรดแมพ และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล "สมัคร 1"

    ดร.พันศักดิ์ "นโยบาย ใต้เงาหูกระต่าย"

    กองทุนหมู่บ้าน , โอท็อป , SMEs , Dual Track ถ้านี่คือ แก่นคิดหลักของนโยบายรัฐบาลผสม ที่มี "พรรคพลังประชาชน" เป็นแกนนำ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเงาของ "หูกระต่าย" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ พาดคลุมอยู่ในรัฐบาล "สมัคร 1"

    ดร.พันศักดิ์ เป็นหนึ่งใน "ขุนพลบ้านพิษณุโลก" ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนักฝันด้านนโยบายที่มีชื่อเสียง เคยสร้างความฮือฮาไว้ตั้งแต่ยุค "เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า"

    ภายหลัง "รัฐบาลน้าชาติ" ถูกปฏิวัติรัฐประหาร "ดร.พันศักดิ์" ย้อนกลับไปอยู่ในวงการสื่อ ก่อนจะหวนมามีบทบาทเชิงนโยบายรัฐอีกครั้งในยุคไทยรักไทย

    ดร.พันศักดิ์ มีอิทธิพลต่อ "อดีตผู้นำ" ในแง่นโยบายไม่น้อย เป็น นักคิด นักวางยุทธศาสตร์ ยุคก่อตั้งพรรค และยังคงความเป็น "นักฝัน" ปั้น Story ให้รัฐบาลไทยรักไทย 1 และ ไทยรักไทย 2 ให้ดูแตกต่าง และสร้าง "ความหวัง" ปนอารมณ์ "ฝันเฟื่อง" ให้กับภาคประชาชน โดยเฉพาะคนชนบท

    อดีตประธานที่ปรึกษาด้านนโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญ ๆ ทั้งนโยบายรากหญ้าอย่าง กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป และนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระดับประเทศ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track) นโยบายกึ่งชาตินิยม แม้กระทั่ง นโยบายเสกกระดาษให้เป็นเงิน "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน"

    เมื่อชะโงกหน้าข้ามไหล่ เหล่า ครม.นอมินี ไปมองดูบรรดา "คีย์แมน" เบื้องหลัง ย่อมต้องมีชื่อของ "ดร.พันศักดิ์"

    กุนซือ รายนี้ หายเข้ากลีบเมฆไปพร้อมกับการรัฐประหาร ของ คปค. ไม่มีใครเคยเห็นเขาปรากฏตัวต่อสาธารณะ

    แม้ว่าประเด็นของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น ภายใต้การผลักดันของ ดร.พันศักดิ์ จะร้อนฉี่ ทั้งถูกกดดัน ตรวจสอบ และถึงขั้นรื้อถอน เช่นกรณีศูนย์ออกแบบ TCDC ซึ่งมีชื่อ ดร.พันศักดิ์ นั่งเป็น "ประธาน" แต่เขาไม่เคยออกมาตอบโต้ หรือ ยอมถอย จนในที่สุด มีการแต่งตั้งประธาน TCDC ทำให้เขาต้องหลุดจากตำแหน่งไปโดยปริยาย

    แม้ชื่อจะเงียบหาย แต่วงในระบุว่าอีกหนึ่ง "ตัวจริง" ที่วางโรดแมพนโยบายเศรษฐกิจ "รัฐบาลสมัคร 1" มี "ดร.พันศักดิ์" ต้นตำรับประชานิยมร่วมวงอยู่ด้วย

    เขาไม่ใช่ นักการเงินมือฉมัง แต่เป็น มันสมองของ "อดีตผู้นำ" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ จะมีนโยบาย วิจิตรพิสดารออกมาเป็นระยะๆ

    หรือ เราอาจจะเห็น สารพัดนโยบายที่เคย "ฝันค้าง" สมัยไทยรักไทย หวนกลับมาในรูปลักษณ์ใหม่ ชื่อใหม่ที่ดู "สด" กว่าเดิม

    การกลับมาของ ดร.พันศักดิ์ ในสนามการเมือง ถูกยืนยันอีกครั้ง เมื่อมีชื่อของคนสนิท "ไชยยง รัตนอังกูร" โผล่อยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกคาดว่าจะเป็นที่ปรึกษาขุนคลัง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ทั้งที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการ TCDC มาหมาดๆ หลังจากที่ต่อรองค่าชดเชยอยู่เป็นเวลานาน

    ดร.ทนง พิทยะ "ยาสามัญประจำบ้าน"

    ถัดจาก หมอมิ้ง และ ดร.พันศักดิ์ ซึ่งเป็นแกนกลางวางยุทธศาสตร์นโยบาย ก็มาถึงบรรดา "นักการเงิน-การคลัง" ที่จะบันดาลฝันให้กับ พลังประชาชน และ "สมัคร 1"

    ในกลุ่มนี้ต้องมี ดร.ทนง พิทยะ คนใกล้ชิดของ ดร.ทักษิณ รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

    ชื่อของ ดร.ทนง ถูกโยนเข้ามาในตำแหน่ง "ขุนคลังคนนอก" เกือบจะในทันทีที่ชัดเจนว่า "พลังประชาชน" เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

    ไม่ใช่เพราะ ดร.ทนง เคยนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาแล้วถึง 2 สมัย คือ ยุค ที่ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2540 และในยุคปลายๆ ของรัฐบาลทักษิณ 2

    แต่เป็นเพราะอดีตขุนคลังคนนี้ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด อุปถัมภ์เกื้อกูล กับ "ครอบครัวชินวัตร" มากเป็นพิเศษ จนเรียกได้ว่า เป็นนักการเงินคู่ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ

    เขาถูกเรียกขานจากสื่อ ในฐานะ "ยาสามัญประจำบ้าน"

    แม้ในที่สุดตำแหน่งขุนคลัง จะเป็นชื่อ "น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" แต่ใช่ว่า ดร.ทนง จะไม่มีบทบาทในรัฐบาล "สมัคร 1"

    ยิ่งถ้ามองไปที่แก่นกลางของนโยบายเศรษฐกิจที่มี "นโยบายการคลัง" เป็นเครื่องมือสำคัญ คนที่จะทำให้ฝันของนโยบายรัฐบาล "สมัคร 1" เป็นจริงได้ต้องมี "ดร.ทนง" อยู่ด้วย

    ถึงจะไม่ได้อยู่ใน "ฉากหน้า" แต่ปรากฏอยู่ใน "เงา" เป็นฉากหลัง

    ความสามารถในการสรรหารายจ่ายนอกงบประมาณในรัฐบาลทักษิณ หรือ แผนเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อสานฝันเมกะโปรเจค ต่างๆ คือ ภารกิจของ "ขุนคลัง" ยุคนั้น

    ยังไม่นับภารกิจพิเศษ ที่ ดร.ทนง ถูกวิจารณ์ว่า มานั่งขุนคลังเพื่อทำให้ดีลขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น ให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ ด้วยเม็ดเงิน 73,000 ล้านบาท ของครอบครัวชินวัตรเป็นจริง เพราะในขณะนั้น “ดร.ทนง” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตำแหน่ง และยังมีบทบาทกำกับกรมสรรพากร

    มาดูกันว่า ในปลายๆ ยุคสมัยทักษิณ 2 ดร.ทนง ในฐานะ "ขุนคลัง" ทำอะไรค้างไว้บ้าง

    เรื่องที่ประกาศเป็นนโยบายไว้แล้ว และยังไม่ได้ทำ คือ แผนต่อยอดประชานิยม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้มนุษย์เงินเดือน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แผนปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ และที่บ่งบอกว่า นโยบายของรัฐบาลสมัคร 1 มีเชื้อมาจาก "กุนซือ" กลุ่มนี้คือ นโยบายดึงเงินจากอุตสาหกรรมประกันมาต่อยอดลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งตามแผนแล้วต้องใช้เงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท

    แนวคิด ดึงเงินจาก "ประกันภัย" มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีมาตั้งแต่ครั้งที่ ดร.ทนง นั่งเป็น รมว.คลัง

    ประเมินดูแล้ว แนวทางฟื้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนของทีมเศรษฐกิจ "สมัคร 1" ไม่แตกต่างจาก ยุค ดร.ทนง โดยเฉพาะการใช้ธนาคารรัฐ เป็นกลไกปล่อยเงินประชานิยม

    ครั้งนั้น ดร.ทนง เปิดเจรจากับผู้บริหารธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารออมสิน เพื่อตรึงดอกเบี้ย เงินกู้ลูกหนี้โครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคง เร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตร และสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอี

    นโยบายเหล่านี้ เราคงได้เห็นอีกครั้งในยุค "สมัคร 1"

    แม้เวลาจะเปลี่ยน แต่ ดร.ทนง ยังคงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ได้ผลเสมอ ถึงจะเป็นแค่ "เงา" อยู่หลังฉากก็ตาม

    นิพัทธ "นักการเงินมือพระกาฬ"

    นิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และที่ปรึกษาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกครั้ง ท่ามกลางคำสบประมาท "ครม.ขี้เหร่"

    หากย้อนดูประวัติการทำงานของ "นิพัทธ" ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เขาจะมานั่งเป็นที่ปรึกษา และไม่แปลกสำหรับเจ้าของฉายา "แมวเก้าชีวิต"

    "นิพัทธ" เติบโตในชีวิตราชการมาในสาย "เงินกู้" สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเขามักจะพูดถึงตัวเองเสมอว่า "ผมเป็นพวก Macro" นั่นหมายถึงมีความถนัดด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แต่ "นิพัทธ" ยังมีความสามารถมากกว่า "พวก Macro" คนอื่นๆ ตรงที่เขายังเป็นนักบริหารในวงราชการอย่างหาตัวจับยาก

    ชีวิตรับราชการของ "นิพัทธ" เผชิญกับความผกผันอย่างยิ่ง เขามีทั้งรุ่งโรจน์สุดขีด จนถึงตกอับสุดขั้ว แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง

    เรียกได้ว่าฉายาที่ได้มานั้น "หาใช่โชคช่วย" แต่ด้วยสายสัมพันธ์ในแวดวงราชการและการเมือง ซึ่งมีผลไม่น้อยต่อชีวิตราชการของเขาที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามการเมือง

    เรื่องฝีมือและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของ "นิพัทธ" นั้น ในแวดวงการเงินการคลังแล้วไม่มีใครกังขา ซึ่ง "นิพัทธ" มีบทบาทต่อนโยบายเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

    "นิพัทธ" เข้าไปมีบทบาทในระดับชาติครั้งแรกและเริ่มปรากฏชื่อต่อสาธารณชน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจนนำไปสู่การลดค่าเงินบาทในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

    ในช่วงนั้น "นิพัทธ" มีบทบาทในฐานะกรรมการบริหารสำรองของธนาคารโลกที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาล ก่อนจะกลับมากระทรวงการคลังในตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมี สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรี จนได้ฉายาว่า "ลูกป๋าหลานปู่" จากนั้นก็ขึ้นเป็น ผู้อำนวยการสศค. และเป็นช่วงเวลาที่ "นิพัทธ" มีบารมีอย่างมากในสายตลาดเงินตลาดทุน เพราะ สคศ.สมัยนั้น ดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

    "นิพัทธ" จึง "ครบเครื่อง" ในเรื่องนโยบายการคลังและตลาดเงินตลาดทุน แม้แต่วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เมื่อรัฐบาลเข้าโครงการช่วยเหลือขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้น ก็เรียกใช้บริการของ "นิพัทธ" ในการเจรจา

    "ความเก่ง" ของเขา ก็ได้ชื่อว่า "เป็นคนมีแผล" ควบคู่ไปด้วย

    นิพัทธ เจอสอบทุจริตครั้งแรกในสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ที่หนักสุด คือสมัยของนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรมว.คลัง ในสมัยของนายชวน หลีกภัย ที่ "นิพัทธ" เจอข้อหาถึงไล่ออกจากราชการ พร้อมด้วยคดีความติดตัว คือคดีการทุจริตโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต และ คดีการอนุมัติเพิ่มทุนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) โดยไม่มีอำนาจในสมัยนั่งเป็นประธานบอร์ดออมสิน

    ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และรอดข้อหาความผิด "ไล่ออก" เหลือเพียงแต่ "ตัดเงินเดือน" และกลับไปนั่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังจนเกษียณอายุราชการ เมื่อปี 2546 แต่ 2 คดีหลังยังไม่สิ้นสุด

    เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นหลังปฏิวัติ มีมติดำเนินคดีในข้อหา "ร่ำรวยผิดปกติ" และอีกคดีคือธนาคารออมสินฟ้องเรียกค่าเสียหายเกือบ 400 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่เกิดขึ้นในสมัยนายเนวิน ชิดชอบ เป็นรมช.คลังและดูแลกรมธนารักษ์ที่มีเขาเป็นอธิบดี

    "นิพัทธ" ถือเป็นผู้ที่เข้าใจกลไกการทำงานของกระทรวงการคลังอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคอย่างแหลมคม

    ดังนั้นจึงมีนักการเมืองมาใช้ "บริการ" เสมอ

    คดีความที่ยังไม่สิ้นสุด อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ "นิพัทธ" เข้ามาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ ก็จะเป็นพิสูจน์ฉายา "แมวเก้าชีวิต" อีกครั้ง

    วิจิตร สุพินิจ "ผู้มีบารมีตลาดทุน"

    วงในระบุว่า เบื้องหลังของนโยบายเศรษฐกิจ "สมัคร 1" และเป็น "ทีมเศรษฐกิจหลังฉาก" ที่คอยบัญชาการอยู่เบื้องหลัง บรรดาครม.เศรษฐกิจ มีชื่อ "วิจิตร สุพินิจ" รวมอยู่ด้วย

    อันที่จริงชื่อของ วิจิตร สุพินิจ วนเวียนอยู่หลังฉากการเมืองมานาน

    เขาอยู่ในข่ายบุคคลที่ กลับมา "ยิ่งใหญ่" ในตลาดเงิน-ตลาดทุน หลังจากพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ทั้งที่เงียบหายไป หลังลงจากเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

    การกลับมาของ วิจิตร ครั้งนั้น ทำให้เขาเป็นหนึ่งใน ผู้ที่กำหนดทิศทางตลาดทุน โดยเฉพาะในตำแหน่ง ประธานตลาดหลักทรัพย์ 2 สมัย และหมดวาระลงไปหมาดๆ เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2550

    แม้จะเป็นหนึ่งในลูกหม้อไทยรักไทย เป็นคีย์แมนคนสำคัญด้านการเงิน แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา "วิจิตร" มีชื่อเป็นทีมเศรษฐกิจ ให้กับ "พรรคเพื่อแผ่นดิน" ซึ่งแตกหน่อมาจากพรรคไทยรักไทยหลังแพแตก

    บ่งบอกถึง ความใกล้ชิดกับกลุ่ม ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ สุวิทย์ คุณกิตติ มากกว่ากลุ่มสายตรง ดร.ทักษิณ

    แม้จะไม่ใช่พลังประชาชนเต็มร้อย แต่สำหรับสายเลือดไทยรักไทย ความที่ยังตัดไม่ขาด ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความรู้ ความช่ำชองทางการเงินอย่างหาตัวจับยาก เขาจึงอยู่ในศูนย์บัญชาการเบื้องหลัง "ครม.เศรษฐกิจ"

    "วิจิตร สุพินิจ" นักเรียนทุนรุ่นหนึ่งของธนาคารชาติ เขาเป็นอดีตนายธนาคารกลางที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภาคการเมืองทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ครั้งเป็นผู้ว่าการฯ เมื่อปี 2533 พร้อมกับนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค สอดรับกับนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

    วิจิตร ยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การเงินของไทย ในฐานะ "ผู้เปิดประตู" เสรีการเงิน ซึ่งมองอีกด้าน นโยบาย BIBF เปิดเสรีภาคการเงิน ก็คือ "จำเลย" สำคัญที่ทำผลักไสให้ประเทศไทยเผชิญพายุการเงินในปี 2540

    ในยุคไทยรักไทย 1 และ ไทยรักไทย 2 "วิจิตร" และ เพื่อนร่วมทาง อย่าง นิพัทธ พุกกะณะสุต และ ศุภชัย พิสิฐวานิช ถูกวางตัวเป็นคีย์แมนด้านตลาดทุน เพราะทั้ง 3 คน คือกลุ่มเทคโนแครตที่รู้จักทุกช่องทางระบบการเงินของประเทศ และในยุค "สมัคร 1" ก็คงไม่แตกต่างกัน

    แก่นคิดของ "วิจิตร" ที่น่าจับตามอง สำหรับรัฐบาล "สมัคร 1" คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ การสร้างความมั่งคั่งผ่านตลาดทุน

    ในความคิดของเขาเศรษฐกิจไทย ควรจะเติบโตในระดับ 5-7%

    อีกอย่างที่ต้องจับตามองกันคือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ ต่อ "มาตรการ 30%" ของธนาคารกลาง

    ในหลายวาระ วิจิตร ให้ความเห็นว่า แม้จะผ่อนปรนไปมาก แต่ในเชิงจิตวิทยา มาตรการ 30% ยังเป็นอุปสรรคของตลาดทุน หมายความว่า ถ้ารัฐบาลนี้มอง "ตลาดหุ้น" เป็นเป้าหมาย มาตรการกันสำรอง 30% คืออุปสรรคแรกที่มองเห็น

    ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช : ลูกหม้อไทยรักไทย - ซีพี

    ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกระบุว่าได้รับการทาบทามในตำแหน่ง รมช.คลัง

    ไม่น่าแปลกใจ เพราะ ดร.สุชาติ เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย และเมื่อครั้งที่ ดร.ทนง พิทยะ นั่งว่าการตำแหน่ง “ขุนคลัง” และน.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อยู่ในตำแหน่ง รมว.พลังงาน นักวิชาการค่ายรามคำแหงท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็น “คนการเมือง” ที่ถูกส่งไปเป็นตัวแทนในหน่วยงานอิสระหลายแห่ง และหลายคณะทำงาน

    เขาสวมหมวกที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั่งเป็นคณะกรรมการเกาะติดเศรษฐกิจมหภาค เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ก.ล.ต. และ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในช่วงที่ ดร.ทนง นั่งคุมคลัง ทางด้านกระทรวงพลังงานของ “หมอมิ้ง” ดร.สุชาติ อยู่ในทีมสนับสนุนการดำเนินแผนยุทธศาสตร์พลังงานไปสู่ภาคปฏิบัติ

    ในระหว่างฟอร์มรัฐบาล “สมัคร 1” ดร.สุชาติ ปรากฏตัวในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ โดยให้ความเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ และแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ โดยประเด็นที่ ดร.สุชาติ เน้นย้ำเป็นพิเศษคือ การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    เขาพูดไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือฟื้นความเชื่อมั่น และกระตุ้นการลงทุน ทั้งยังแนะให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยให้เหลือ 2% ภายใน 6 เดือน และต้องเพิ่มรายได้การส่งออก เพราะเป็นปัจจัยหลักของ GDP

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล “สมัคร 1” จะเป็นเรื่อง "ดอกเบี้ย" ซึ่งถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย ยุคผู้ว่าการ “ธาริษา วัฒนเกส” ยังยึดหลัก “เสถียรภาพ” ข่าวลือที่ว่าจะมีการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ต้องถือว่า "มีมูล" ทีเดียว

    ดร.สุชาติ คนนี้ ยังมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มซี.พี. ซึ่งในการเลือกตั้งรอบนี้ แม้ว่ากลุ่มซี.พี.จะเล่นบท "แทงกั๊ก" พร้อมสนับสนุนทุกพรรคการเมือง แต่กับพรรคพลังประชาชน สายสัมพันธ์ก็ไม่ได้เจือจาง ว่ากันว่าโซ่คล้องใจระหว่างซีพี และกลุ่มพลังประชาชนก็คือ ดร.สุชาติ คนนี้

    ฟื้นเศรษฐกิจ เคลียร์พื้นที่ เปิดทาง "ตัวจริง"

    โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล "สมัคร 1" ถูกวางไว้ชัดเจนว่า ต้องเรียกศักดิ์ศรีของไทยรักไทยกลับคืน และแนวทางที่ดีที่สุดก็คือ "ฟื้นเศรษฐกิจ"

    โจทย์นี้ดูเหมือนจะไม่ยาก ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทุกคน เรียกร้องหา "สูตรกระตุ้นเศรษฐกิจ" พร้อมเพรียง

    "ประชานิยม" ท่ามกลางความฝืดเคืองจึงกลายเป็น "อาหารจานด่วน" ในการพื้นเศรษฐกิจแบบสำเร็จรูป ส่วน "เมกะโปรเจค" คือฝันใหญ่ เป็นนโยบายที่ "ขายได้" ทั้งคนกรุง และ ชนบท

    หากรัฐบาล "สมัคร 1" เดินหน้าบนทางคู่ขนานประชานิยม เมกะโปรเจค เชื่อได้ว่า โอกาส "ล้างมลทิน" ให้กับนักการเมืองค่ายไทยรักไทย โดยเฉพาะกลุ่ม 111 มีความเป็นไปได้สูง

    เดิมพันครั้งนี้ ไม่น้อย ดังนั้น แม้หน้าฉากจะเป็น "รัฐมนตรีมือใหม่" แต่หลังฉากกลับเป็น บรรดา "กุนซือ" ฝีมือเลิศล้ำ

    ทั้งหมดพร้อมใจยืนอยู่ "ข้างหลัง" สะสมศรัทธาครั้งใหม่ ปูทางหวนคืนสนามการเมืองครั้งหน้า เพราะเกมนี้ถูกพล็อตไว้แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อให้ได้เสียงเบ็ดเสร็จ อาจมาเร็วกว่าที่คิด

    ที่มา กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์ 8 ก.พ.51

    ผู้แสดงความคิดเห็น dr ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2008-02-12 09:57:16 IP : 58.64.75.71



    [1]


    Copyright © 2010 All Rights Reserved.