ReadyPlanet.com


โอนสินทรัพย์ให้คลังผลกระทบ "หุ้นปตท." เล็กน้อย


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์ 21ธ.ค.50

จากการชี้แจงของ PTT ต่อ ครม.วานนี้ ถือว่าผลกระทบออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยสินทรัพย์ที่จะโอนให้กระทรวงการคลังเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ส่วนค่าเช่าท่อก๊าซ ยังต้องรอสรุปอีกครั้ง

แต่เบื้องต้นจะอยู่ที่ขั้นต่ำ 5% ของรายได้ค่าผ่านท่อ การบันทึกค่าใช้จ่ายจะทำกันในไตรมาส 4 นี้เลย โดยจะเป็นค่าเช่าท่อก๊าซย้อนหลัง 6 ปี ประมาณ 1.2 พันล้านบาท และภาษีโอนสินทรัพย์ ประมาณ 2 พันล้านบาท รวมมีมูลค่าประมาณ 3.2 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิของปี 2550 เพียง 3.4% หรือเพียง 1.14 บาทต่อหุ้น กระทบปีนี้เพียงครั้งเดียว

กำไรสุทธิที่เราคาดไว้ในปีนี้ที่ 9.47 หมื่นล้านบาท จึงปรับลดลงมาที่ 9.15 หมื่นล้านบาท หรือ -4% จากกำไรสุทธิของปีก่อน เมื่อประเมินผลกระทบสำหรับค่าเช่าต่อปีที่ประเมินกันไว้เบื้องต้นราว 200 ล้านบาทต่อปี จะมีผลต่อมูลค่าหุ้นเพียง 0.7-0.84 บาท (ถ้าประเมินจาก P/E Multiplier ที่ราว 10-12 เท่า)

ด้านมูลค่าหุ้น PTT เราประเมินไว้สำหรับปี 2551 ก่อนหน้านี้ที่ 434 บาท ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลกระทบแล้วแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย (ให้เพียง 2 บาท) ซึ่งเรามองว่าประเด็นนี้ชัดเจนแล้ว หุ้น PTT จะกลับมาสะท้อนพื้นฐานที่แข็งแกร่งตามเดิม แถมยังมีประเด็นบวกจากเรื่องการเริ่มทยอยตัวค่าก๊าซ LPG ด้วย เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ

โอนสินทรัพย์ให้คลังไม่มากเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท

จากการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมสรรพากร กรมที่ดิน ตลาดหลักทรัพย์ และ บมจ.ปตท. มีข้อสรุปในเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินดังนี้ คือ

1) ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนประมาณ 32 ไร่ มูลค่าทางบัญชี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2544) ประมาณ 7 ล้านบาท

2) สิทธิเหนือที่ดินเอกชน มูลค่าทางบัญชี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2544) ประมาณ 1,124 ล้านบาท

3) ทรัพย์สินท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ประกอบระบบท่อส่งก๊าซ มูลค่าทางบัญชี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2544) ประมาณ 14,008 ล้านบาท โดยตามระบุคำพิพากษาของศาล จะเป็นโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย จะเห็นว่าเป็นท่อก๊าซบนบกเท่านั้นที่ได้มาจากการรอนสิทธิ์เอกชน หรือการโอนที่ดิน

รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชี (ณ วันที่ 30 กันยายน 2544) ที่จะโอนให้กระทรวงการคลังทั้งหมด 15,139 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% จากมูลค่าสินทรัพย์รวมของ PTT ณ สิ้นกันยายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องแบ่งแยกตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด มีความไม่ชัดเจนในการตีความ ครม.จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อยุติต่อไป คาดกันว่ากระบวนการโอนสินทรัพย์และท่อก๊าซจะเสร็จสิ้นในต้นปี 2551 และจะไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากเป็นแค่การโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น ขณะที่ PTT ยังได้สิทธิในการใช้งานเหมือนเดิม

รอสรุปค่าเช่าผ่านท่อภายใน 3 สัปดาห์ แต่เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 5%

กรมธนารักษ์จะรับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าระบบท่อ โดยจะอยู่บนหลักการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงการคลัง PTT และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ PTT เองยังต้องมีการรับภาระเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ ภาระซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น อัตราค่าเช่าจะไม่ต่ำกว่า 5% ของรายได้ค่าผ่านท่อ ในส่วนของระบบท่อที่ต้องโอนคืนให้คลัง สำหรับการประเมินค่าเช่ารายปีในกรณีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี หรือเพียง 0.07 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของ PTT ที่ในปีหน้าคาดไว้ 9.94 หมื่นล้านบาท หรือ 35.30 บาทต่อหุ้น

บันทึกค่าเช่าและภาษีย้อนหลังใน Q4 นี้ ก็กระทบไม่มากเช่นกัน

คาด PTT จะมีการบันทึกค่าเช่าระบบท่อที่โอนให้คลังย้อนหลัง 6 ปี จำนวน 1.2 พันล้านบาท (ตามการประเมินค่าเช่า 5% ซึ่งตกประมาณปีละ 200 ล้านบาท ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น)

นอกจากนี้จะมีการบันทึกภาษีการโอนสินทรัพย์ในไตรมาสนี้ด้วย ราว 2 พันล้านบาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีการบันทึกประมาณ 3.2 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิของปี 2550 เพียง 3.4% หรือเพียง 1.14 บาทต่อหุ้น จากที่ประมาณไว้ก่อนหน้านี้ที่ 9.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็เป็นผลกระทบที่เล็กน้อยเช่นกัน

+++

รายงานนี้เป็นการสรุปประเด็นกรณีการตัดสินคดี ปตท. รวมทั้งประเมินผลกระทบที่คาดจะเกิดขึ้น บางประเด็นอย่างเรื่องค่าเช่าระบบท่อก๊าซยังไม่สิ้นสุด โดยถ้ามีความคืบหน้ามากขึ้น จะนำเสนอต่อไป

บทความนี้ต่อจากวิเคราะห์วันที่ 17 ธันวาคม 2550



ผู้ตั้งกระทู้ dr กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-24 18:44:08 IP : 58.64.90.211


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (880825)
ลำดับเหตุการณ์คดีฟ้อง ปตท.

-วันที่ 31 สิงหาคม 2549 มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคกับพวกรวม 5 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเกี่ยวกับการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็น บมจ.ปตท. ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

-วันที่ 4 กันยายน 2549 ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง ซึ่งต่อมา ปตท.ได้เข้าเป็นคู่ความในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

-วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้จัดให้มีการนั่งพิจารณาครั้งแรกในคดี

-วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย H หุ้นปตท. ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้า และขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขาย) ตั้งแต่การซื้อขายรอบบ่ายของวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่า ปตท.จะเปิดเผยข้อมูลต่อ ตลท.

-วันที่ 16 ธันวาคม 2550 ผลข้างเคียงจากคดี ปตท. ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวลดลง 18.78 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12,589 ล้านบาท

-วันที่ 17 ธันวาคม 2550 ปตท.ยืนยันปฏิบัติตามคำสั่งศาล และการโอนทรัพย์สินเป็นไปอย่างโปร่งใส ทรัพย์สินตามคำพิพากษาที่ ปตท.ต้องโอนให้กระทรวงการคลัง ได้แก่ 1.ที่ดินเวนคืน 32 ไร่ 2. สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ 3.ทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ศาลได้วินิจฉัยว่า ให้ ปตท.ยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท.เคยมีอยู่ต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

-วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ตลท.ปลดเครื่องหมาย SP หุ้นปตท. ตั้งแต่การซื้อขายรอบบ่าย ภายหลัง ปตท.ได้แจ้งผลของคดี และการดำเนินการมายัง ตลท.

ที่มา ถนนนักลงทุน bangkokbizweek.com

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ผู้แสดงความคิดเห็น dr ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2007-12-24 18:46:31 IP : 58.64.90.211



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.