ReadyPlanet.com


7 บจ.ดูดเงินไอพีโอกว่า 6.2 พันลบ. ชิงขายก่อนเลือกตั้ง


7 บจ.ดูดเงินไอพีโอกว่า 6.2 พันลบ. ชิงขายก่อนเลือกตั้ง

สำรวจหุ้นไอพีโอ 7 บจ.น้องใหม่ ตบเท้าเข้าดูดเงินในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าระดมทุนรวมกว่า 6.2 พันล้านบาท กูรูชี้ ยุคนี้ต้องหุ้นเหล็กเท่านั้น แนะจอง มิลคอนฯ รับอานิสงส์โครงการทั้งรัฐ-เอกชน จ่อผุดปีหน้า ส่วนใครต้องการหุ้นไม่หวือหวา แนะนำจองซื้อหุ้นน้ำประปาไทย

แม้ว่า 9 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไอพีโออาจจะไม่คึกคักมากนัก เพราะตลาดหุ้นไทยในปีนี้อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างผันผวน จากปัญหาปัจจัยการเมืองในประเทศ แถมยังมีซับไพร์มเข้ามาผสมโรงอีก แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี กลับพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนอย่างน้อย 7 บริษัทที่เตรียมขายหุ้นไอพีโอ โดยอาศัยจังหวะช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 เป็นช่วงเวลาของการขายหุ้น เพราะตามสถิติที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือนดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวขึ้นแรง
         
eFinanceThai.com รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่กำลังจะขายไอพีโอจำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์กรีน, บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.มิลคอนสตีลอินดัสทรีส์, บมจ.ชูไก, บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี, บมจ.ไทยง้วน เอทานอล และ บมจ.น้ำประปาไทย ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุนรวมไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อล้วงลึกข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะตัดสินใจจองหุ้นตัวไหนดี เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงุทนมากที่สุด

**บมจ.ชูไก
         
บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจให้เช่ารถเครน รถฟอร์คลิฟท์ รถยกตู้คอนเทนเนอร์ รถแมนลิฟท์ เพื่อการก่อสร้าง การยก ประกอบ และติดตั้ง รวมถึงให้บริการขนส่งและขนย้าย ด้วยรถหัวลาก หางเทรลเลอร์ และรถบรรทุกประเภทต่าง ๆ โดยรวมถึงการให้ข้อแนะนำ คำปรึกษา วิธีการใช้งานของเครื่องจักรกล และจะดำเนินการออกแบบการทำงานร่วมกับเจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้าง เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย และมีความปลอดภัยสูงสุดต่อลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง
         
นอกจากนี้บริษัทฯยังมีการจำหน ่ายเครื่องจักรกลหนัก และให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลหนักแก่ลูกค้าทั่วไปด้วย ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯจะต้องจัดหา เครื่องจักรกลมาใช้ในการดำเนินงาน โดยบริษัทฯจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและจัดซื้อ โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลใช้แล้วจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทฯ มีตัวแทนเพื่อจัดหาเครื่องจักรใช้แล้วที่มีสภาพดีให้กับบริษัทฯ ซึ่งภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการนำเข้าเครื่องจักรกลหนักดังกล่าวแล้ว บริษัทฯจะทำการตรวจสภาพ ซ่อมแซม ปรับปรุงและปรับสภาพเครื่องจักร (Overhaul) ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน โดยวิศวกรและทีมช่างที่มีประสบการณ์ เพื่อจำหน่ายหรือให้เช่ากับลูกค้าต่อไป
         
รายได้รวมของบริษัทฯในปี 2549 มีรายได้รวมเท่ากับ 776.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.87 จากปี 2548 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่อง มาจากความต้องการใช้เครื่องจักรในปีก่อนหน้า ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง การขนส่งและการนำเข้าส่งออก ทั้งนี้ในปี 2549 โครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ จะยังคงมาจากการให้บริการเช่าเครื่องจักร มากกว่าการจำหน่ายเครื่องจักร
         
ทั้งนี้ ชูไก จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ 100 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.22% ของทุนจดทะเบียน ในราคาที่กำหนดไว้เบื้องต้น หุ้นละ 2-3.50 บาท โดยมี บล.บีฟิทเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

**บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน
         
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งในช่วงแรกเป็นการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ที่ไม่อันตรายเป็นหลัก ก่อนที่จะดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นอันตรายด้วยวิธีฝังกลบแบบปลอดภัย (Secured Landfill) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 โดยบริษัทมีพื้นที่หลุมฝังกลบขนาดประมาณ 70,000 ตร.ม. และธุรกิจให้บริการบำบัดน้ำเสีย ธุรกิจการปรับคุณภาพสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทน ธุรกิจสนับสนุนการให้บริการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะเพิ่มขอบเขตการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงาน ภายใต้นโยบายการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯ แบบครบวงจร (One Stop Service)
         
สำหรับผลการดำเนินงาน ในปี 2547 - 2549 และงวด 6 เดือน ปี 2550 บริษัทมีรายได้จากการบริการ 159.53 ล้านบาท 273.58 ล้านบาท 466.85 ล้านบาท และ 301.10 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งรายได้จากการบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี เนื่องจากบริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 จากการที่บริษัทได้มีการขยายธุรกิจและให้บริการเพิ่มเติม สำหรับการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นอันตราย (เพิ่มเติมจากธุรกิจเดิม คือ การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ที่ไม่อันตรายเพียงอย่างเดียว) จึงทำให้บริษัทสามารถให้บริการได้หลากหลายมากขึ้น โดยบริษัทคาดการณ์ว่าแนวโน้มปริมาณสิ่งปฏิกูลฯ ในประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หน่วยงานราชการยังจะเพิ่มความเข้มงวดต่อโรงงานอุตสาหกรรม ให้กำจัดสิ่งปฏิกูลฯ อย่างถูกวิธี ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถขยายการให้บริการ ได้เพิ่มมากขึ้นอีกต่อไป
         
ในปี 2547 - 2549 และงวด 6 เดือน ปี 2550 บริษัทมีกำไรสุทธิ 0.36 ล้านบาท 51.06 ล้านบาท 70.15 ล้านบาท และ53.41 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ ร้อยละ 0.22 ร้อยละ 18.50 ร้อยละ 15.00 และร้อยละ 17.68 ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี เป็นผลมาจาก ความสามารถในการขยายฐานลูกค้า ซึ่งทำให้มีรายได้จากการบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยต้นทุนการบริการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นตามการให้บริการ ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิที่ลดลงในปี 2549 เนื่องจากผลกระทบของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากในปี 2549 มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องนำไปกำจัดภายนอก และมีค่าซ่อมแซมระบบบำบัด รวมไปถึงบริษัทมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยให้ส่วนลดอัตราค่าบริการเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่
         
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 320,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 320,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 240,000,000 บาท ซึ่งบริษัทมีความประสงค์ ที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวน 80,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนของบริษัท ในราคาหุ้นละ 2.90-3.20 บาท โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ ในการนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ลงทุนเพื่อขยายการดำเนินงาน และสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน

**บมจ.น้ำประปาไทย
         
บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 1 พันล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นเพิ่มทุนใหม่ 700 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.64% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ และ อีกส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม 5 ราย รวมกันไม่เกิน 300 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 7.52% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ โดยมี บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
         
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จะเสนอขายหุ้นพร้อมการไอพีโอครั้งนี้ คือ บมจ.ช.การช่าง(CK), บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้งส์(ประเทศไทย)จำกัด, บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ, ธนาคารกรุงเทพ(BBL) และ ธนาคารทหารไทย (TMB)
         
บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาด้วยกำลังผลิต 320,000 ลบ.ม./วัน โดยทำสัญญาขายน้ำประปา ให้กับการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)ในพื้นที่ อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล ในจังหวัดนครปฐม, อำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดแทนการใช้น้ำบาดาลของภาคเอกชน การผลิตน้ำประปาจากบ่อบาดาลของ กปภ.และ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอ ต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการช่วยแก้ปัญหาแผ่นดินทรุด และ น้ำเค็มแทรกในชั้นบาดาล ตามนโยบายของรัฐบาล
         
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อย งวด 6 เดือนแรกของปี 2550 บริษัทมีรายได้จากขายน้ำประปา 1, 565.3 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 1,061.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 550.4 ล้านบาท
         
ณ วันที่ 14 กันยายน 2550 บริษัทฯมีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,990 ล้านบาท และทุนชำระแล้วจำนวน 3,250 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,250 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

**บมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์
         
บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งในระยะเริ่มแรก บริษัทดำเนินกิจการ ด้วยการเป็นศูนย์บริการเหล็ก คือ การนำเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม ้วนขนาดใหญ่ มาตัดเป็นเหล็กแผ่นหรือเหล็กแถบม้วนตามขนาดมาตรฐาน หรือขนาดที่ลูกค้าต้องการ รวมทั้งดำเนินการผลิตขึ้นรูปเหล็กรูปพรรณ เช่น เหล็กรูปตัวซี เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น จากนั้นในปี 2547 บริษัทขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว โดยได้มีการลงทุนในที่ดิน โรงงาน อาคารสำนักงาน และเครื่องจักรสำหรับการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย ซึ่งได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 และในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทยังได้ลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรผลิตท่อเหล็ก ซึ่งได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2549
         
ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้ดังนี้
1. เหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย
2. เหล็กรูปพรรณ
         
บริษัทมีโครงการขยายส่วนต่อของโรงงานผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย มูลค่าโครงการประมาณ 120 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1. เพื่อเป็นคลังสินค้าแห่งใหม่ของโรงงาน
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการรองรับการผลิต โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ซึ่งคาดว่า จะก่อสร้าง พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้แล้วเสร็จได้ ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2551
        
สำหรับผลการดำเนินงานของมิลคอน นับจากปี 2547 ถึงไตรมาส 1 ปี 2550 บริษัทมีรายได้จากการขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นมากในปี 2549 เนื่องจากบริษัทมีการขยายการดำเนินงาน ด้วยการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อยในเดือนกันยายน 2548 และ เพิ่มสายผลิตภัณฑ์ท่อเหล็ก ในเดือนมิถุนายน 2549 ประกอบกับบริษัทสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้เหล็กทรงยาว ที่เติบโตขึ้นตามการลงทุน ในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นผลให้ยอดขายในปี 2549 เติบโตจากปี 2548 ถึงร้อยละ 325.86 และยอดขายในไตรมาส 1 ปี 2550 เติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77.32 โดยยอดขายประมาณร้อยละ 76 และร้อยละ 69 ของยอดขายรวม มาจากการขายเหล็กเส้น และ เหล็กข้ออ้อย ยอดขายที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2549 และไตรมาส 1 ปี 2550 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต ้นและกำไรสุทธิเติบโตขึ้น
         
นอกจากนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยลดลง เป็นผลให้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิของช่วงเวลาดังกล่าว ปรับตัวดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในปี 2548 บริษัทประสบผลขายทุนจากการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทเริ่มการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อยเป็นปีแรก อัตราผลผลิตที่ได้รับ (Yield) จึงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เกิดขาดทุนขั้นต้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายงาน จึงทำให้บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิ 83.70 ล้านบาท
         
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 400,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 400,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 300,000,000 บาท ซึ่งบริษัทมีความประสงค์ ที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวน 100,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนของบริษัท ในราคาหุ้นละ2.50-3 บาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนเพื่อขยายการดำเนินงาน และสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติจดทะเบียนหุ้นสามัญทั้งหมด เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ

**บมจ.ไทยง้วนเอทานอล
         
บริษัท ไทยง้วนเอทานอล จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายเอทานอล และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเอทานอล ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานเพื่อผลิตเอทานอล จำนวน 1 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้ง เท่ากับ 130,000 ลิตรต่อวัน โดยตั้งอยู่ที่ เลขที่ 88 หมู่ 6 ถนน มิตรภาพ ตำบล โนนศิลา กิ่งอำเภอ โนนศิลา จังหวัด ขอนแก่น 40110 และในปี 2549 ใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตติดตั้ง กลุ่มบริษัทประกอบด้วย บริษัทย่อย 1 แห่ง คือ บริษัท ไท่ผิง เอทานอล จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเอทานอล
         
ปัจจุบัน บริษัทย่อยอยู่ระหว่างการซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารโรงงาน เพื่อผลิตเอทานอล ที่อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โดยโรงงานของบริษัท ไท่ผิง เอทานอลจำกัด จะมีกำลังการผลิตติตั้ง เท่ากับ 300,000 ลิตรต่อวัน บริษัทมุ่งเน้นการผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทผู ้จำหน่ายน้ำมันระดับชาติ และเน้นการบริการจัดส่งที่ตรงเวลา โดยบริษัทจะจัดส่งสินค้าให้ตรงเวลาตามที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หน่วยงานราชการและกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบกลุ่มลูกค้าของบริษัท ได้แก่ บริษัทผู้จำหน่ายน้ำมันระดับชาติ โดยลูกค้าจะเป็นผู้ส่งรถบรรทุกมารับเอทานอลจากบริษัท เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน และนำไปจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์ต่อไป ซึ่งบริษัทจะจัดจำหน่ายตรงไปที่ลูกค้า ซึ่งเป็นลูกค้าภายในประเทศทั้งหมด โดยมีพนักงานฝ่ายการตลาด เป็นผู้ติดต่อ ดูแล และประสานงาน ในอนาคต หากบริษัทมีกำลังการผลิตเหลือ จากการจำหน่ายให้แก่ผู้จำหน่ายน้ำมันในประเทศ บริษัทมีแผน ที่จะส่งออกเอทานอล ไปจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศต่างๆ
         
ทั้งนี้บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้นออกใหม่ที่เสนอขายประชาชน จำนวน 98,000,000 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 1.00 บาท ในราคา 2.50-3.00 บาท โดยมี บล.บีฟิท เป็นที่ปรึกษาทางกรเงิน
         
บริษัทมีแผนธุรกิจในการเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล เพื่อรองรับความต้องการใช้เอทานอลของประเทศที่เพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการกระจายการจัดหาวัตถุดิบ สำหรับการผลิต ดังนั้นบริษัทจึงดำเนินการจัดตั้งบริษัท ไท่ผิง เอทานอล จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อย และเป็นผู้ก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่ พร้อมกับติดตั้งเครื่องจักรสำหรับผลิตเอทานอล

โครงการผู้ถือหุ้นก่อนเสนอขายไอพีโอ ประกอบด้วย กลุ่มของนายภาณุ จารุพิรุฬห์ และจิระพงษ์ตระกูล (ผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยง้วนเมทัล) ในส่ดส่วน 72.79% และผู้ถือหุ้นอื่นๆ 10.88

ในปี 2547 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2548 บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ และเริ่มทดลองการผลิตในเดือนกันยายน ปี 2548 ดังนั้นในช่วงดังกล่าว บริษัทจึงไม่มีรายได้จากการขาย ทำให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน
         
ในปี 2549 บริษัทเริ่มจำหน่ายเอทานอลในเดือนมกราคม ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขาย เท่ากับ 237.26 ล้านบาทและมีรายได้อื่นเท่ากับ 3.13 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 39.29 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16.34 ของรายได้รวมและบริษัทมีสินทรัพย์รวม เท่ากับ 576.75 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ร้อยละ 20.32 ของสินทรัพย์รวม และเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ร้อยละ 79.68 ของสินทรัพย์รวม และบริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 59.15 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินทั้งหมดเป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งสิ้น และบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 517.60 ล้านบาท โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว 502.00 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 502.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
         
ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 7/2549 วันที่ 20 ตุลาคม 2549 มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 600.00 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน ต่อประชาชน จำนวน 98 ล้านหุ้น ซึ่งเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทย่อย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

** บมจ. ไซแมท เทคโนโลยี
         
บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำ กัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลัก คือ การเป็นผู้ให้บริการจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ และ พัฒนาโปรแกรมการใช้งาน คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่แบบครบวงจร (Integrated Mobile Computing Solution Provider) สำหรับระบบการจัดเก็บและจัดการข้อมูลในองค์กร (Enterprise Data Collection and Collation System: "EDCCS") ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร (Enterprise Resource Planning: "ERP") ของบริษัทลูกค้า ซึ่งทำให้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Real time) และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
         
บริษัทมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีบาร์โค้ด และ Radio Frequency Identification ("RFID") โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ บริษัทเอกชน ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้าธุรกิจขนส่ง ธุรกิจการผลิต รวมถึงภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
         
รายได้รวมของกลุ่ม ในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549 เท่ากับ 115.74 ล้านบาท 172.56 ล้านบาท และ 289.20 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต ร้อยละ 43.55 ร้อยละ 49.09 และร้อยละ 67.60
         
ในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 7.32 ล้านบาท 29.70 ล้านบาท และ 36.09 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราส่วนกำไรสุทธิ เท่ากับร้อยละ 6.32 ร้อยละ 17.21 และร้อยละ 12.48 ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิปรับตัวลดลงในปี 2549 เนื่องจาก ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายแ ละบริหารที่เพิ่มขึ้น
         
บริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนจำนวน 18.75 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.00 ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจของบริษัท

**บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์
         
บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ก่อตั้งโดยครอบครัวพูลวรลักษณ์ ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2550 มีโครงการ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้น 8 โครงการ มูลค่ารวม 13,800 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอนใน 1-2 ปีข้างหน้า
         
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงปี 2547-2549 มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 601.05 ล้านบาท เป็น 704.25 ล้านบาท และ 1,601.40 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการพัฒนาโครงการของบริษัทฯ เมื่อพิจารณากำไรสุทธิในปี 2547-2549 มีกำไรสุทธิ 12.2 ล้านบาท 67.56 ล้านบาท และ 260.47 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 2550 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 102.39 ล้านบาท
         
บริษัทฯ เตรียมจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ สามัญเพิ่มทุนใหม่ (IPO) ในกลางเดือนพ.ย.นี้ จำนวนทั้งสิ้น 200 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทไทย สแตรทีจิค แคปปิตอล เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

**กูรูเชียร์ มิลคอน-น้ำประปาไทย
         
นายสิทธิพร เจนในเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีหุ้นเตรียมขายไอพีโอหลายบริษัท ในช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการเข้าระดมทุน โดยหุ้นที่น่าสนใจจองซื้อหากมีเงินจำกัด คือบริษัทมิลคอนฯ ซึ่งจะได้รับผลดีจาดโครงการก่อสร้างในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจ็ก หรือโครงการก่อสร้างต่อๆ ที่ล้วนแต่ต้องใช้เหล็กข้ออ้อย เป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีจำนวนหุ้นน้อย ราคาหุ้นจึงค่อนข้างหวือหวา เหมาะกับการเก็งกำไร
         
อีกหนึ่งบริษัทคือน้ำประปาไทย ซึ่งถือเป็นหุ้นที่เหมาะสมหรับการถือลงทุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวา แต่มีความมั่นคง ทั้งในแง่ของบริษัทฯ และ ผลการดำเนินงานสามารถซื้อเพื ่อลงทุนได้

บริษัท                 จำนวนไอพีโอ(ล้านหุ้น) ที่ปรึกษาทางการเงิน ราคาไอพีโอ(บ.) เม็ดเงินระดมทุน(ลบ.)
เบตเตอร์เวิลด์ฯ           80                         บล.เคทีบี               2.90-3.20           232-256
เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ 200                   ไทยสแตรทีจิคฯ             na                     na
มิลคอนฯ                   100                       บล.เคทีบี               2.50-3.00           250-300
ชูไกฯ                       100                       บล.บีฟิท                2.00-3.50           200-350
ไซแมทฯ                  18.75                    บล.ฟิลลิป                  na                     na
ไทยง้วน เอทานอล      98                         บล.บีฟิท               2.50-3.00           245-294
น้ำประปาไทย           1,000                   บล.กสิกรไทย           4.00-5.00         4,000-5,000
รวม                                                                                                       4,927-6,200

ที่มา : eFinanceThai.com รวบรวม 20:15 12/10/2550


ผู้ตั้งกระทู้ musashi โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-10-14 22:47:27 IP : 58.64.90.163


Copyright © 2010 All Rights Reserved.