ReadyPlanet.com


CDS ย่อมาจาก Credit Default Swap เป็นตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงที่ส่วนวาณิชธนกิจของ AIG สร้างภาร


CDS ย่อมาจาก Credit Default Swap เป็นตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงที่ส่วนวาณิชธนกิจของ AIG สร้างภาระผูกพันไว้เป็นจำนวนมหาศาล

ตราสารอนุพันธ์นี้จะอ้างอิงกับตราสารหนี้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลหรือหุ้นกู้ที่ออกโดยเอกชน โดยมีลักษณะเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ผู้ออกสัญญาจะให้การประกัน คุ้มครองผู้ซื้อจากความเสี่ยงที่เกิดเมื่อตราสารหนี้ที่อ้างอิงอยู่นั้นมีการผิดนัดชำระ สมมุติว่าธนาคาร X ได้ซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท Y ธนาคาร X ย่อมเผชิญกับความเสี่ยงที่บริษัท Y จะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคาร X สามารถซื้อสัญญา CDS ไว้ โดยคู่สัญญา (หรือผู้ออก CDS) จะให้การคุ้มครองกับธนาคาร X ในกรณีที่บริษัท Y ผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ดีหากบริษัท Y ยังคงจ่ายผลตอบแทนให้กับธนาคาร X ได้ตามกำหนดเวลา (ไม่เกิดเหตุการณ์เบี้ยวชำระหนี้ขึ้น) ธนาคาร X มีภาระต้องจ่ายเงิน (ตามแต่ตกลงในสัญญา) ให้กับคู่สัญญา (หรือผู้ออกตราสาร CDS นั่นเอง) ในทุกๆ งวดที่มีการชำระเงิน ประหนึ่งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองทางการเงิน ยามเกิดการผิดชำระหนี้

ตลาด CDS เติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ประมาณกันว่ามูลค่าของตลาด CDS มีค่าถึง 62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของบรรดาหุ้น ที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐแล้ว เราจะพบว่ามูลค่าของตลาด CDS นั้นมีขนาดมากกว่า มูลค่าของตลาดทุนสหรัฐ ถึงสามเท่าเลยทีเดียว (มูลค่าของการเทรดตราสารอนุพันธ์ทั้งหมด ณ เมื่อธันวาคม ปี 2550 มีมูลค่าสูงถึง 68.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10 เท่าของจีดีพี ของทุกประเทศทั่วโลกรวมกัน)

แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว CDS เป็นเครื่องมือเพื่อใช้บริหารความเสี่ยง แต่มันกลับถูกใช้อย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องมือสำหรับการเก็งกำไร โบรกเกอร์รายหนึ่งเล่าว่า เฮดจ์ฟันด์สามารถฟันกำไรอย่างงามได้จากการออก CDS โดยสามารถนอนรอรับเงินจำนวน 320,000 เหรียญสหรัฐในแต่ละปี จากการขายประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรเกรด BBB หรือ junk bond ก้อนเงินจำนวนมากที่เข้ามาเหมือนได้เปล่าเช่นนี้ เป็นเพราะผู้ออก junk bond ยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเมื่อใดที่ junk bond นั้นผิดนัดชำระหนี้ กองทุนเฮดจ์ฟันด์นั้นจะมีภาระต้องชดเชยความเสียหายสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ความเชื่อมโยงระหว่างปัญหา "ซับไพรม" CDS และความเปราะบางของสถาบันการเงินในโลกปัจจุบันนี้

เมื่อการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินเริ่มรุนแรงยิ่งขึ้น สถาบันการเงินจึงเริ่มขยายตลาดรุกเข้าสู่พรมแดนของลูกค้า ที่มีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น ลูกค้าที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำหรือถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูงนี้ ถูกเรียกว่ากลุ่มลูกหนี้ "ซับไพรม์" (เนื่องด้วยเหตุที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าลูกค้าชั้นดี คือจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าไพรมเรตนั่นเอง)

เพื่อป้องกันตัวเองจากความเสียหายที่อาจเกิดจากลูกค้าซับไพรม สถาบันการเงินจึงใช้วิธีผ่องถ่ายเอาสัญญาเงินกู้ ของกลุ่มลูกค้าซับไพรมมารวมกัน แล้วแปลงสภาพให้เป็นตราสารหนี้ นำออกขายทอดตลาดอีกต่อ ด้วยวิธีการเช่นนี้สถาบันการเงินสามารถนำเอาสินทรัพย์เสี่ยง (คือสัญญาเงินกู้) ออกจากงบดุลของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องมีภาระเพิ่มเงินกองทุนในภายหลัง ตราสารหนี้ที่มีกระแสผลตอบแทนมาจากสัญญาเงินกู้นี้เรียกว่า Collateralized Debt Obligation หรือ CDO

ความน่าลงทุนใน CDO อยู่ที่ผลตอบแทนที่ให้กับผู้ถือในระดับสูง แม้ลูกหนี้ซับไพรม์จะมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูง แต่ทว่าโอกาสที่ลูกหนี้จำนวนมากรายจะผิดนัดชำระเงินกู้พร้อมๆ กันนั้นมีน้อยมาก ดังนั้นแม้บางรายผิดนัดชำระในบางงวด แต่ยังมีรายอื่นๆ จ่ายดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาในจำนวนที่พอเพียง กับอัตราผลตอบแทนบนตราสาร CDO ได้

เพื่อให้ตราสาร CDO นี้มีความน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น สถาบันการเงินจึงขาย CDS เพื่อประกันความเสี่ยงให้กับผู้ถือตราสาร CDO ตามไปด้วย ดังนั้นในยุคที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสหรัฐบูมสุดๆ สถาบันการเงินแย่งกันปล่อยกู้ให้กับลูกค้าระดับซับไพรม และจัดการแปลงเงินกู้เหล่านั้นให้เป็น CDO จึงฉุดพาให้ตลาด CDS โตตามไปด้วย

ความน่ากลัวชวนสยดสยองมาขมวดปมตรงที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งธนาคารกลางบางแห่ง ต่างละเลยถึงความเสี่ยง และต่างเข้าถือครอง CDO จำนวนมาก และผู้เล่นรายใหญ่อย่างแบร์ สเติร์น และ AIG ต่างก็ออกตราสารอนุพันธ์ CDS มาคุ้มครองความเสี่ยงให้ CDO เหล่านั้นในมูลค่าที่มากมายมหาศาลไม่แพ้กัน เมื่อเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดต่ำลง ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เริ่มขยายวงกว้าง จนกลายเป็นปัญหาทั้งระบบ ผู้ให้การประกันความเสี่ยงอย่างแบร์ สเติร์น หรือ AIG ย่อมไม่มีเงินเพียงพอจะมาจ่ายให้กับผู้ถือสัญญา CDS ได้ครบเต็มจำนวนทุกราย โดยเฉพาะในช่วงที่เครดิตตึงตัวเช่นนี้

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า ตราสารอนุพันธ์เป็นอาวุธทางการเงินที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง คำเปรียบเปรยของกูรูด้านการลงทุนรายนี้สะท้อนภาพต้นตอหายนะทางการเงินในช่วงปีนี้ได้เป็นอย่างดี

ที่มา: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q4/2008october02p6.htm


ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-14 00:37:41 IP : 58.64.82.60


Copyright © 2010 All Rights Reserved.