ReadyPlanet.com


ซิตี้แบงก์"ควัก2พันล้านดอลล์ซื้อหุ้นวาโชเวีย


ซิตี้แบงก์"ควัก2พันล้านดอลล์ซื้อหุ้นวาโชเวีย

:

"ซิตี้กรุ๊ป" แบงก์ยักษ์ใหญ่สุดของอเมริกา ตกลงจ่ายกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อธุรกิจแบงกิ้งรวมพอร์ตเงินฝากวาโชเวีย ด้านเอสแอนด์พีกับมูดี้ส์ จ้องปรับลดเรทติ้งซิตี้กรุ๊ป หลังประเมินความเสี่ยงจากดีลนี้มีมากขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สำนักข่าวบลูมเบิร์กและเอพี รายงานวานนี้ (30 ก.ย.) ว่า ซิตี้กรุ๊ปธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐตกลงจะซื้อธุรกิจด้านการธนาคารจากวาโชเวีย คอร์ป (วาโชเวีย) ธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของประเทศ ในวงเงินมูลค่า 2.16 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นดีลดำเนินการโดยผู้ดูแลกฎระเบียบจากส่วนกลาง การซื้อครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากราคาหุ้นวาโชเวียทรุดหนัก เพราะธนาคารประสบปัญหามูลค่าเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจำนวนมากผิดนัดชำระคืน

บลูมเบิร์กระบุว่า ดีลซื้อหุ้นวาโชเวียนั้น ซื้อขายกันในราคาประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น และบรรษัทรับประกันเงินฝากส่วนกลาง (เอฟดีไอซี) ซึ่งเป็นคนกลางช่วยซิตี้กรุ๊ปดำเนินการเทคโอเวอร์ธุรกิจธนาคารของวาโชเวีย แจ้งว่าลูกค้าเงินฝากของวาโชเวียซึ่งโอนไปให้ซิตี้กรุ๊ปทุกรายจะได้รับความคุ้มครอง

ส่วนซิตี้กรุ๊ปวางแผนจะลดการจ่ายเงินปันผลของธนาคารลงครึ่งหนึ่ง และจัดการเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อต้องเข้าไปรับผิดชอบหุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้บุริมสิทธิของวาโชเวีย 

เอพีรายงานว่า ดีลซื้อธุรกิจบางส่วนของวาโชเวีย ช่วยเพิ่มเครือข่ายบริการเพื่อรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปได้มาก ทำให้ซิตี้กรุ๊ปมีสาขากว่า 4,300 แห่งทั่วสหรัฐ และมีเงินฝากรวมมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐ ติดกลุ่มบิ๊กทรีในอุตสาหกรรมธนาคารของประเทศ ซึ่งปัจจุบันบิ๊กทรีรวมถึงแบงก์ ออฟ อเมริกา และ เจ.พี.มอร์แกน เชส แอนด์ โค.

ส่วนบลูมเบิร์กรายงานว่า การซื้อธุรกิจวาโชเวียช่วยให้ซิตี้กรุ๊ป มีสาขาและสำนักงานเพิ่มขึ้น 3,300 แห่งใน 21 มลรัฐ และวาโชเวียจะยังคงเป็นเจ้าของธุรกิจโบรกเกอร์ เอ.จี. เอดวาร์ดส์ อิงค์ และเอเวอร์กรีน ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เป็นธุรกิจของครอบครัวไว้ 

ขณะที่ราคาหุ้นวาโชเวียที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่วานนี้กลับลดลงมากถึง 8.16 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือลดลง 81.6% ไปปิดที่ 1.84 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่วนซิตี้กรุ๊ปราคาหุ้นระหว่างซื้อขายช่วงเย็นวานนี้ ลดลง 1.17 ดอลลาร์ หรือ 5.8% เคลื่อนไหวที่ 18.98 ดอลลาร์ต่อหุ้น

ทั้งนี้การซื้อธุรกิจบางส่วนจากวาโชเวีย ส่งผลให้ซิตี้กรุ๊ปมีต้นทุนใช้จ่าย ซึ่งธนาคารแจ้งแล้วว่า จะตัดลดเงินปันผลรายไตรมาสลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 16 เซนต์ต่อหุ้น พร้อมกับลดทอนหุ้นที่มีอยู่ ด้วยการขายหุ้นสามัญคิดเป็นเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงฐานเงินทุนของธนาคารไว้ให้ดี 

นอกจากนี้จากมูลค่าหนี้ที่คาดว่าวาโชเวียมีอยู่ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ทางซิตี้กรุ๊ปจะดูดซับการขาดทุนส่วนนี้ไว้มากถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากพอร์ตสินเชื่อรวมของวาโชเวียทั้งหมด 3.12 แสนล้านดอลลาร์

โดยส่วนของการขาดทุนที่เหลืออยู่ทางเอฟดีไอซีตกลงจะรับไว้ ทางซิตี้กรุ๊ปยังจะออกหุ้นกู้บุริมสิทธิและใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนท์ ขายเอฟดีไอซีอีก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ก่อนหน้านี้บลูมเบิร์กรายงาน อ้างความเห็นในเอกสารของนายหลุยส์ พิตต์ นักวิเคราะห์สินเชื่อของโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ที่ว่าวาโชเวียอาจเผชิญกับความเป็นไปได้ ที่จะเกิดเงินฝากไหลออกอย่างเงียบๆ อย่างที่วอชิงตัน มิวชวลเผชิญมาแล้ว เพราะบรรดาลูกค้าหวาดกลัวธนาคารล้ม จึงพากันถอนเงินออกในจำนวนมากมายผิดปกติ 

ในภาวการณ์ข้างต้น ส่งผลให้วอชิงตัน มิวชวลอ่อนแอหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาถึง 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ และตอนนี้ทางการสหรัฐเข้าไปเทคโอเวอร์วอชิงตัน มิวชวลแล้ว อย่างไรก็ดีในเวลานี้ ทั้งเอฟดีไอซีและวาโชเวียไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ ว่าวาโชเวียได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับวอชิงตัน มิวชวลหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามนายโจ ไฮเดอร์ ประธานดอว์สัน เวลธ์ แมเนจเมนท์ ในคลีฟแลนด์ กล่าวด้วยความเชื่อที่ว่า ซิตี้กรุ๊ปจะยังจะเดินหน้าต่อไปได้กับดีลซื้อวาโชเวียนี้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าถึงจุดนี้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่คาดกันไว้เป็นไปได้ทั้งนั้น และเขาตั้งสมมติฐานว่า หากซิตี้กรุ๊ปหันหลังให้กับดีลวาโชเวีย สถานการณ์เช่นนี้จะสร้างความปั่นป่วนให้วอลล์สตรีท ซึ่งเดิมมีอาการย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ยิ่งแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงตลาดอาจดิ่งลงมากกว่านี้

ด้านเอพีรายงานด้วยว่า ทั้งสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ เอสแอนด์พี กับมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือ มูดี้ส์ 2 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของสหรัฐ ออกมาเคลื่อนไหวให้เรทติ้งน่าลงทุนของซิตี้กรุ๊ปถูกจับตามอง และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะถูกลดเรทติ้ง 

โดยทั้งเอสแอนด์พีและมูดี้ส์ ตั้งข้อสังเกตว่า การจับตามองและความเป็นไปได้อาจปรับลดเรทติ้งซิตี้กรุ๊ปนั้น มาจากแรงกดดันเกิดขึ้นกับผลประกอบการของซิตี้กรุ๊ปยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากพอร์ตสินเชื่อและการตัดบัญชีหนี้สูญ

ขณะที่นางสาวทันยา อาร์ซาคส์ นักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี มองการซื้อกิจการวาโชเวียของซิตี้กรุ๊ปนั้น จะก่อความยุ่งยากด้านการบริหารงาน ในช่วงที่ซิตี้กรุ๊ปกำลังดิ้นรนทำธุรกิจในภาวะแวดล้อมยากลำบาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับธนาคาร เพราะธนาคารเข้าไปถือครองสินทรัพย์ในช่วงตลาดวุ่นวาย และธุรกิจปล่อยกู้ซื้อบ้านเสี่ยงมาก  

สอดรับกับนายโรเบิร์ต ยัง นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ที่ว่า การซื้อธุรกิจของวาโชเวียก่อปัญหาท้าทายหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เมื่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารกำลังถูกกัดกร่อน จากตลาดเพื่อการพาณิชย์และตลาดเพื่อผู้บริโภคแย่ลง  

ปัจจุบันมูดี้ส์ให้เรทติ้งหุ้นกู้บุริมสิทธิของซิตี้กรุ๊ป Aa3 ส่วนเอสแอนด์พีให้เรทติ้งคู่ค้าให้กับธนาคาร AA- ซึ่งทั้งสองเรทติ้งที่ซิตี้กรุ๊ปได้รับเป็นเรทติ้งน่าลงทุนสูงสุดอันดับ 4 ตามลักษณะการจัดอันดับของสถาบันจัดเรทติ้งชั้นนำของโลกทั้งสองแห่ง



ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-01 01:09:53 IP : 58.64.83.124


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1844284)

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2008/10/01

วันที่ 1 ต.ค.51

ชงตั้งกองทุนอุ้มประกัน "ล่ำซำ"พร้อมซื้อหุ้นเมืองไทย


สาระ ล่ำซำ:

คปภ.เสนอคลังออกทุนประเดิมตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ทำประกัน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รับมือผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก พร้อมย้ำฐานะเมืองไทยประกันชีวิตกับเมืองไทยประกันภัยแกร่ง ด้าน "สาระ" ยันหากกลุ่มฟอร์ติสต้องการขายหุ้น กลุ่มล่ำซำ พร้อมรับซื้อทั้งหมด

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.จะเสนอให้กระทรวงการคลัง ทำแผนฉุกเฉินจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ทำประกัน กรณีธุรกิจประกันในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกจนส่งผลเสียต่อผู้ถือกรมธรรม์

โดยจะเสนอให้รัฐบาลออกเงินเป็นทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท แยกเป็นคุ้มครองประกันชีวิต 9,000 ล้านบาท และคุ้มครองประกันภัย 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ถือกรมธรรม์ในกรณีเกิดปัญหา  

ส่วนกรณีธนาคารฟอร์ติส จากกลุ่มประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ประสบปัญหาทางการเงิน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เนื่องจากผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย คือ ฟอร์ติส อินชัวรันส์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นในส่วนของประกันภัยไม่ใช่ธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาลุกลามขึ้นมาจริง ผู้ถือหุ้นเมืองไทยก็พร้อมซื้อหุ้นกลับคืนจากฟอร์ติสทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ฟอร์ติสมีสัดส่วนถือหุ้นในเมืองไทยประกันชีวิตที่ 25% หรือ 92,649 หุ้น จากทั้งหมด 370,598 หุ้น และในเมืองไทยประกันภัย 10% หรือ 5.9 ล้านหุ้น จากทั้งหมด 59 ล้านหุ้น

นางจันทรา กล่าวอีกว่า ส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทประกันประเทศไทย จะไม่เกิดปัญหาเช่นกัน เพราะ คปภ. ออกเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด โดยขณะที่ธุรกิจประกันภัยมีต่างชาติถือหุ้นอยู่ 13 บริษัท และสาขาต่างชาติ 1 บริษัท จากทั้งหมด 24 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และถือหุ้นไม่เกิน 25% ขณะที่ในธุรกิจประกันวินาศภัย มีต่างชาติถือหุ้น 30 บริษัท สาขาต่างชาติ 5 บริษัท จากทั้งหมด 72 บริษัท ซึ่งทั้งหมดถือหุ้นไม่เกิน 25% เช่นกัน

ด้าน นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ย้ำว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีฟอร์ติส เนื่องจากฟอร์ติสที่ถือหุ้นในเมืองไทยประกันชีวิต คือบริษัทในธุรกิจประกันภัย ซึ่งกลุ่มฟอร์ติส ได้มีการแยกการดำเนินงานอย่างชัดเจนระหว่างธุรกิจธนาคาร และธุรกิจประกันภัย 

ปัจจุบันบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต มีลูกค้ากว่า 1 ล้านราย สิ้นเดือนส.ค.2551 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 11,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8% โดยเป็นเบี้ยประกันรับปีแรก 4,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% และเบี้ยประกันรับปีต่อไป 6,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  28.9%   

ขณะที่ฐานะการเงินในงวดเดียวกันมีสินทรัพย์ 54,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 อัตรา 15% มีเงินสำรองประกันภัย 45,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และมีเงินกองทุน 6,833 ล้านบาท สูงเป็น  7.46 เท่า ตามที่ คปภ.กำหนด และเทียบเท่ากับ 234% ของมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนในการดำเนินงานธุรกิจประกันชีวิตของสหภาพยุโรป หรือ EU Standard และมีกำไรสะสม 3,879 ล้านบาท  

สำหรับสินทรัพย์ลงทุน ณ สิ้นเดือนส.ค.2551 มีจำนวน 50,364 ล้านบาท โดยลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูงคิดเป็น 84.32% ได้แก่พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 58.67% หุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง A- ขึ้นไป 25.66% ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี 8.12% เงินให้กู้ยืม 7.56% เงินลงทุนต่างประเทศ 0.8%  และไม่มีการลงทุนตรงในต่างประเทศและในกลุ่มธุรกิจฟอร์ติสแต่อย่างใด

"เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านการดำเนินงาน และการบริการเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนมาโดยตลอด ขอให้มั่นใจในความมั่นคงของบริษัท เพื่อความอุ่นใจของประชาชนชาวไทยจะได้รับความคุ้มครองที่มั่นคงตลอดไป หากฟอร์ติสต้องการขายออกจริง กลุ่มล่ำซำพร้อมซื้อหุ้นคืน" 

ด้านนางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า ฟอร์ติสถือหุ้นในบริษัทแค่ 15% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 89 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 590 ล้านบาท และขณะนี้ฟอร์ติสได้ยืนยันว่าไม่ขายหุ้นประกันออกทั้งในเมืองไทยประกันชีวิตและเมืองไทยประกันภัย หากฟอร์ติสมีความประสงค์จะขายหุ้นในเมืองไทยประกันภัยก็สามารถดำเนินการได้โดยการขายในตลาดหลักทรัพย์เหมือนผู้ถือหุ้นทั่วไปได้ 

ณ สิ้นมิ.ย. เมืองไทยประกันภัย มีสินทรัพย์ รวม 6,794 ล้านบาท สินทรัพย์ลงทุน 4,289 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 20% หุ้นกู้ 12% เงินฝาก 20% หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 21% หน่วยลงทุน 10% ตั๋วสัญญาใช้เงินและหน่วยลงทุน 15% และการปล่อยกู้ให้กับพนักงานและเช่าซื้อ 2%

ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,700 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 590 ล้านบาท เงินกองทุน 1,860 ล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ คปภ.กำหนด 7 เท่า มีเบี้ยรับประกันรับรวม 2,025 ล้านบาท เพิ่ม 27% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการครองตลาด 3.8% มีเบี้ยรถยนต์ 50% อัคคีภัย 30% ประกันอุบัติเหตุ 10% ประกันภัยทางทะเลและอื่นๆ 9% โดยมีกำไรสะสม 2,900 ล้านบาท ฐานลูกค้า 7 แสนราย

นายสาระ กล่าวในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ว่า สถานะทางการเงินของบริษัทประกันชีวิต 24 แห่งในประเทศไทย นั้นแข็งแกร่งโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ.มาตลอด ในขณะที่การลงทุนของประกันชีวิตและประกันภัยก็ถูกกำหนดโดย คปภ. เพราะฉะนั้นสินค้าที่ประกันชีวิตขายจึงเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานคือการคุ้มครองและการออมเป็นหลัก การลงทุนของประกันชีวิตจึงต้องเป็นแบบอนุรักษนิยมคือ มีความเสี่ยงต่ำ ไม่เน้นผลตอบแทนที่สูง แต่เน้นความมั่นคงเป็นหลัก ส่วนใหญ่กว่า 80% จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ

ผู้แสดงความคิดเห็น dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2008-10-01 01:12:49 IP : 58.64.83.124



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.