ReadyPlanet.com


พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551


พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป โดยจะค่อย ๆ ลดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากจากคุ้มครองทั้งหมด และค่อย ๆ ลดลงเหลือการคุ้มครองเหลือบัญชีละ 1 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยกำหนดขั้นของการคุ้มครองเงินฝาก ดังนี้

ในปีที่ 1 (11 ส.ค. 51 - 10 ส.ค. 52) ผู้ฝากจะยังได้รับคุ้มครองเต็มจำนวน 100%
ในปีที่ 2 (11 ส.ค.52 - 10 ส.ค.53) ผู้ฝากจะได้รับการคุ้มครอง 100 ล้านบาท
ในปีที่ 3( 11 ส.ค.53 - 10 ส.ค.54) ผู้ฝากจะได้รับความคุ้มครอง 50 ล้านบาท
ในปีที่ 4 (11 ส.ค.54 -10 ส.ค. 55) ผู้ฝากจะได้รับความคุ้มครอง 10 ล้านบาท
ในปีที่ 5 (ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 เป็นต้นไป) ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า บัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 74.6 ล้านบัญชี ซึ่งแบ่งออกได้เป็น บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินมากกว่า 1 ล้านบาท 8.9 แสนบัญชี หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่ผู้ฝากกลุ่มนี้มีวงเงินรวมถึง 5.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73.1% ของวงเงินฝากทั้งหมด

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หลังการประกาศใช้พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ผลกระทบที่จะเกิดกับบัญชีเงินฝากต่าง ๆ จะเป็นดังนี้  

ปีที่ 2 หรือปี 2553 ที่ผู้ฝากยังได้ความคุ้มครองที่ 100 ล้านบาท จะมีบัญชีที่ได้รับผลกระทบ 3,701 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงินฝากรวม 1.4 ล้านล้านบาท

ปีที่ 3 ที่จะคุ้มครอง 50 ล้านบาทนั้น จำนวนบัญชีที่ถูกกระทบ 9,016 บัญชี คิดเป็นเงินฝากรวม 1.8 ล้านล้านบาท

ปีที่ 4 ซึ่งจะคุ้มครองเหลือ 10 ล้านบาท จะมีจำนวนบัญชีที่ถูกกระทบ 69,789 บัญชี คิดเป็นวงเงินฝากรวม 2.98 ล้านล้านบาท

ในปีที่ 5 หรือปี 2555 หากคิดจากโครงสร้างเงินฝากในปัจจุบัน จะมีจำนวนบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 8.9 แสนบัญชี

พ.ร.บ.สถาบันการเงิน-พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ช่วยคุ้มครองความเสียหายภาคการเงินได้

นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน และพ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงินไม่ให้ลุกลามเหมือนในปี 2540 ได้ ซึ่งตามปกติแล้ว รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เสียภาษี ในขณะที่ผู้ฝากเงินก็ควรดูแลตัวเองด้วย แต่หากสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่สามารถดูแลได้ไหว ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ต้องกลับมาดูแลอยู่ดี และแม้ว่าในปีที่ 5 ของการประกาศใช้พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะคุ้มครองให้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี แต่เงินส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาทก็จะมีการเข้ากระบวนการเพื่อเรียกชำระคืนจากธนาคารพาณิชย์ที่ปิดกิจการไปเช่นกัน จึงอาจทำให้ผู้ฝากเงินได้รับเงินคืนทั้งหมดได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องตรวจสอบดูแลการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ประชาชนจึงไม่ควรกังวลกับการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการที่บัญชีเงินฝากที่มีเงินมากกว่า 100 ล้านบาทต่อบัญชี จะเพียง 3,600 บัญชีจากบัญชีเงินฝากทั้งหมด 75 ล้านบัญชี ซึ่งอาจถือเป็นโอกาสของตลาดตราสารหนี้ในอนาคต เพราะมีความเสี่ยงจากการลงทุนต่ำ ที่อาจทำให้ประชาชนหันไปลงทุนเพื่อกระจายการออมเงินได้มากขึ้น ขณะที่ระบบสถาบันการเงินไทยในอนาคตจะมีการร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีแนวทางที่เรียบง่าย และจะมีความเป็นระดับสากล (Globalization) มากขึ้น เพื่อให้สามารถก้าวไปแข่งขันระดับโลกได้

นายกฤษฎากล่าวว่า แม้ว่าธนาคารบางแห่งจะได้รับการประกันเงินฝากจากภาครัฐเต็มจำนวน เช่น ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)แต่ธนาคารเหล่านั้น ก็จะต้องบริหารสภาพคล่องในระบบ เช่น การลดดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อควบคุมระดับเงินฝาก เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจได้

ที่มาข้อมูล http://www.moneychannel.co.th

 



ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-07-30 23:06:32 IP : 58.64.86.94


Copyright © 2010 All Rights Reserved.