ReadyPlanet.com


"ทองคำ" สินทรัพย์ที่ควรมีในพอร์ตการลงทุน


การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน
วันที่ 26 กันยายน 2553
"ทองคำ" สินทรัพย์ที่ควรมีในพอร์ตการลงทุน
โดย : ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ : บลจ.แอสเซท พลัส

คำถามที่ผมมักจะถูกถามบ่อยๆ คือ ราคาทองคำจะขึ้นถึงระดับไหน ควรซื้อ ขายหรือยัง คำตอบในเรื่องนี้คงต้องกลับมาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกับแนวโน้มของราคาทองคำ และแนวโน้มนั้นจะเป็นในทิศทางไหน คอลัมน์ Money Café ฉบับนี้ ผมจึงขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในทองคำในมุมมองของผมครับ

ทำไมทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ที่เป็นที่นิยมในการลงทุนของคนทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์สำคัญ ประการแรก คือ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่ช่วยป้องกันการเสียความสามารถในการซื้อที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าตามกาลเวลา หรือ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation hedged) ประการที่สอง ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในการถือครอง (Safe haven) ซึ่งสะท้อนจากวิกฤตในตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลกที่ผ่านมา นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกหุ้นมาลงทุนในทองคำจำนวนมาก และประการที่สาม ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่เปรียบเสมือนเงินตราสกุลหนึ่ง เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อเพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มีหลายๆ ปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ความต้องการทองคำของผู้บริโภค (Demand) และปริมาณทองคำในตลาดโลก (Supply)

ปัจจัยที่ผลักดันความต้องการบริโภคทองคำ (Demand) มี 3 ส่วน หลักๆ ได้แก่ ความต้องการจากผู้ลงทุน (Investment demand) ทองคำ เป็นสินทรัพย์นักลงทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก ราคาทองคำ สามารถปรับตัวได้ดี แม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนสูง และสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาทองคำยังแปรผกผันกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินกลางของโลกอีกด้วย ดังนั้น ราคาทองคำจึงปรับตัวได้ดี ในภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงหันมาลงทุนในทองคำเพื่อเก็งกำไร และเพื่อเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เสียมูลค่าในการถือครองเพิ่มขึ้น ทั้งความต้องการ ทองคำแท่ง เพื่อเป็นสินทรัพย์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง หรือจะเป็นความต้องการจากธนาคารกลางทั่วโลกที่ซื้อทองคำแท่งเพื่อเป็นการป้องกันความมั่งคั่งที่ลดลงจากการถือดอลลาร์สหรัฐในภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ความต้องการทองคำรูปพรรณ และการลงทุนในทองคำผ่านอนุพันธ์ทางการเงินต่างๆ เช่น Gold futures Gold account และการลงทุนในรูปแบบกองทุนรวม ซึ่งความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานั้น คิดเป็น 20-30% ของความต้องการทองคำทั้งหมดในโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้ราคาทองคำในปัจจุบันมีความผันผวนมากขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่สอง คือ ความต้องการเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (Industrial demand) เป็นความต้องการทองคำเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและทันตกรรม ซึ่งความต้องการส่วนนี้ค่อนข้างคงที่และแปรผันในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเศรษฐกิจดี ความต้องการส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการทองคำเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนั้น คิดเป็น 20-25% ของความต้องการทองคำทั้งหมดของโลก

ส่วนที่สาม ความต้องการเพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับ (Jewelry demand) เป็นความต้องการที่มากที่สุด โดยคิดเป็น 50% ของความต้องการทองคำทั้งหมดของโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผลักดันความต้องการในส่วนนี้คือ ความมั่งคั่งของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนจากสภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นคงของภาวะการจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่ความต้องการส่วนนี้มาจากประเทศแถบเอเชียโดยมีจีนและอินเดียเป็นประเทศผู้บริโภคหลัก และส่งผลให้ราคาทองคำเปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม หากราคาทองคำเพิ่มขึ้นมากๆ ความต้องการในส่วนนี้อาจปรับตัวลดลงได้

ในส่วนของปริมาณทองคำในตลาดโลก (Supply) ได้มาจาก 3 ส่วนหลักๆ เช่นกัน ส่วนแรก คือ เหมืองแร่ทองคำ เนื่องจาก ทองคำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เพราะไม่มีเหมืองแร่ทองคำใหม่ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต

ส่วนที่สอง คือ ปริมาณทองคำที่ขายออกจากธนาคารกลางโลก ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ซื้อไว้เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในปริมาณมาก ดังนั้น หากเงินคงคลังของแต่ละประเทศไม่เพียงพอ ธนาคารกลางจะขายทองคำออกมาใช้ ทั้งนี้ หากในช่วงที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น ธนาคารกลางก็จะลดปริมาณการขายทองคำลง ประกอบกับการที่ทั่วโลกมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เสียมูลค่าในการถือครอง และสามารถป้องกันความมั่งคั่งที่ลดลงจากการถือดอลลาร์สหรัฐได้อีกด้วย จึงทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องการที่จะซื้อทองคำเพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะขายทองคำ จึงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนที่สาม คือ ทองคำที่เหลือจากการผลิตต่างๆ (Gold scrap) ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีการสูญสลายไป ดังนั้น ปริมาณของ Scrap ทองคำที่เหลือจากการผลิตต่างๆ จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณทองคำ กล่าวคือ ปริมาณของ Scrap ทองคำ จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อแนวโน้มราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ผู้บริโภคจะนำเอา Scrap ทองคำออกมาขาย และในทางกลับกัน หากแนวโน้มราคาทองคำปรับตัวลดลง ปริมาณ Scrap ทองคำก็จะลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณ Scrap ทองคำ มีสัดส่วนมากพอสมควรเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำทั้งหมดในโลก จึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณทองคำ และราคาทองคำ

จากการวิเคราะห์ความต้องการบริโภคทองคำ (Demand) และปริมาณทองคำ (Supply) ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความต้องการบริโภคทองคำมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน (Investment demand) และความต้องการทองคำในฐานะเป็นสกุลเงินหนึ่ง (Currency demand) ที่ใช้แทนเงินดอลลาร์สหรัฐ และใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลก ในขณะที่ปริมาณทองคำมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะจากการผลิตใหม่จากเหมืองน่าจะลดลง ซึ่งเป็นตัวสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสั้น ราคาทองคำจะมีความผันผวนมาก จากความต้องการเพื่อลงทุนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแง่ของการลงทุน มองว่า ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์หลักที่ผู้ลงทุนควรมีไว้เพื่อลงทุนในระยะยาว ประมาณ 10-20% ของพอร์ตการลงทุน


ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2010-09-27 17:29:56 IP : 172.31.166.12


Copyright © 2010 All Rights Reserved.