ReadyPlanet.com


นิทานของบริษัทหลักทรัพย์


ที่มา : โพสต์ ทูเดย์

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีกิจการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น จำความได้ว่ามีการจัดเก็บค่านายหน้าซื้อขายหุ้น (ค่าคอมมิชชัน) ที่ 0.50% ต่อหนึ่งรายการ

ในสมัยนั้นเหล่าบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ต้องมีใบอนุญาต และซื้อที่นั่ง (Seat) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)...ว่ากันว่าความเป็นสมาชิกของ ตลท. ตอนหลังมีการประมูลสูงถึง 300 ล้านบาทต่อใบ และมีจำนวนโบรกเกอร์สูงถึง 50ราย

ครั้งนั้นการซื้อขายหุ้นยังเป็นแบบมือ (Manual) มีกระดานไว้ให้เคาะ ตกลงซื้อขาย ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ จำนวนหุ้นก็มีอยู่ราว 100 กว่าตัว และหมวดหมู่ก็มั่วๆ กันอยู่ ที่เห็นมีหมวดเด่นๆ คือ ธนาคารเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนก่อสร้าง กลุ่มที่ดินยังไม่มี และการซื้อขายหุ้นแค่ภาคเช้า

หลังการลดค่าเงินบาท 14.8% ในปี 2527 เริ่มต้นเศรษฐกิจเติบโตของไทยแบบส่งออกนำ ส่งผลให้ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดัชนีตลาดหุ้น (Set) ขึ้นจุดสูงสุดในปี 2533 ที่ 1,143.78 จุด และก็เกิดวิกฤตตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 1 เนื่องจากอิรักบุกคูเวต ดัชนีตกต่ำสุดที่ 536.74 จุด ในปีเดียวกัน พื้นฐาน Set ยังคงแกร่ง บจ.ยังคงมีการขยายงานมหาศาลลงทุนเกินขนาด ส่งผลอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึงระดับ 14-18% ต่อปี ในปลายปี 2536 เงินทุนต่างชาติไหลเข้า ผลักดัชนี Set ขึ้นสูงสุดตลอดกาลที่ 1,789.16 จุดในวันทำการแรกของปี 2537

ในปี 2540 เกิดวิกฤตการเงิน ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 ก.ค. 2540 และในเดือนก.ย.ปี 2551 เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ถือเป็นวิกฤตตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 3

การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นครั้งแรกในปี 2544 จะเห็นได้ว่าในปี 2543 นั้นยังจัดเก็บค่าคอมมิชชันที่ 0.50% ไม่ทราบว่าไปตกลงกันท่าไหน จึงเปิดเสรีในวันที่ 1 ต.ค. 2544–13 ม.ค. 2545 โดยคิดค่าคอมมิชชันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.14% ปรากฏโบรกเกอร์ขาดทุนกันทั่วหน้า ในต้นปี 2545 จึงมาคุยกันใหม่ ตกลงใช้ค่าคอมมิชชันที่ 0.25% มาจนทุกวันนี้

การทำเน็ตเซตเทิลเมนต์ (Net Settlement) ก่อนหน้านั้น การซื้อขายหุ้นต้องชำระเงินภายในวันที่ 3 คือ T+3 และต้องมีการชำระก่อนถึงจะรับเงินได้ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต โบรกเกอร์มีการแข่งขันสูง มีบางรายอนุญาตให้ลูกค้าชำระส่วนต่างของมูลค่าซื้อขายแต่ละวัน (เน็ต) ซึ่งขณะนั้นผิดกฎหมายอยู่ เพื่อความเป็นธรรมจึงมีการตกลงให้ทำ Net Settlement ได้ จนถึงทุกวันนี้

Remisier (รีไมซิเออร์) หรือนายหน้าแบ่งรายได้ หลังวิกฤตการเงินปี 2540 เหล่าโบรกเกอร์ไทยต้องการลดต้นทุน และผลักภาระความเสี่ยงออกจากตัว จึงยืมเอาหลักการที่ใช้กันอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์คือหลักการมาร์เก็ตติง (ตัวแทน) แบบแบ่งกำไร เปลี่ยนสถานะมาร์เก็ตติงจากลูกจ้างเป็นผู้ประกอบกิจการร่วม ซึ่งมีชื่อเรียกเพราะๆ ว่า รีไมซิเออร์

ณ 6 เดือนแรกของปี 2552 รวม 11 โบรกเกอร์มีส่วนแบ่งตลาดที่ 42.53% มีค่าคอมมิชชันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20% โดย บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) หรือ UOBKH มีค่าคอมมิชชันเฉลี่ยสูงสุดที่ 0.24% และ บล.บีฟิท (BSEC) มีค่านายหน้าต่ำสุดที่ 0.12%

ขณะเดียวกัน รวม 11 โบรกเกอร์มีโครงสร้างรายได้ถึง 60.1% มาจากค่านายหน้า และที่เหลืออีก 39.9% มาจากค่าธรรมเนียม ซื้อขายหุ้น ดอกเบี้ย หรืออื่นๆ

ในปี 2553-2554 จะเปิดเสรีแบบขั้นบันได และในปี 2555 จะเปิดเสรีเต็มที่ มาร์เก็ตติงแบบแบ่งกำไร จะมีเวลาปรับตัว 2 ปี

ส่วนใบอนุญาตกิจการหลักทรัพย์ก็จะถูกลงด้วย จากเดิมที่ขายกัน 50-100 ล้านบาทต่อใบ จะเหลือเพียงใบละ 20 ล้านบาท แต่ ยังมีอุปสรรคของการเข้าสู่กิจการ (Entry Barrier) เพราะมีการกำหนดทุนขั้นต่ำไว้ที่ 500 ล้านบาท

เอาความเสี่ยงคืนไป เอาเงินเดือนของเราคืนมา ในปี 2555 เมื่อมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชันแล้ว จะเกิด (1) เชื่อว่ารูปแบบมาร์เก็ตติงแบบแบ่งกำไรน่าจะยังมีอยู่ แต่จะเป็นระดับโบรกเกอร์ต่อลูกค้าโดยตรง ส่วนวิธีการนั้นแล้วแต่พิจารณา (2) มาร์เก็ตติงโดยทั่วไปจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นลูกจ้างบริษัท ทำให้ความเสี่ยงของต้นทุนกลับไปอยู่กับโบรกเกอร์ (3) อาจยังมีมาร์เก็ตติงแบบมีเงินเดือนตายตัว แบ่งกำไรแบบขั้นบันได

ไม่ว่าจะเกิดในรูปแบบใดสำหรับมาร์เก็ตติงในอนาคต ความเสี่ยงด้านการแบกรับต้นทุนนั้น จะกลับคืนสู่โบรกเกอร์

รายได้จะลดลงในตอนต้น และจะดีดขึ้นในตอนหลัง หลังลดค่าคอมมิชชันเหลือ 0.25% ในปี 2545 มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 8,390 ล้านบาท/วัน และเพิ่มเป็น 1.89 หมื่นล้านบาท ในปี 2546 เช่นนี้ เราอาจคาดหวังได้ว่าในปี 2556 หลังการเปิดเสรีเต็มที่แล้ว มูลค่าซื้อขายต่อวันจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทีเดียว

คาดหวังแบบหัวแม่โป้ง (Rule of Thumb) ตอนค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 0.50% เปิดเสรีเหลือ 0.14% หรือลดลงราว 70% หากนำ 0.25% ลบออกสัก 70% จะเหลือค่าคอมมิชชันที่ 0.075% เราเชื่อว่าหลังเปิดเสรีในปี 2555 ค่าคอมมิชชันจะลดลงสู่ 0.075% แต่จะไม่เกินกว่า 0.14% เฉลี่ยค่าคอมมิชชันจะอยู่ที่ 0.10% หากอิงตัวเลขนี้ อาจอนุมานได้ว่ามูลค่าซื้อขายในปี 2556 เป็นต้นไปอาจเพิ่มกว่าตอนนี้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท/วันกว่าเท่าตัว หรืออาจเห็น 3.2 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นเรื่องปกติได้ และหากเป็นช่วงเวลาดีอาจจะสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท

โครงสร้างรายได้ค่านายหน้าของโบรกเกอร์จะลดลงในปี 2555 เป็นต้นไป รายได้จะเพิ่มขึ้นใน 2 ส่วน คือ จะเห็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นมากขึ้น (พอร์ตเทรด) และจะเห็นโบรกเกอร์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อมากขึ้น (มาร์จินโลน)

ด้านบุคลากรจะเปลี่ยนแปลง ดังนี้ (1) มาร์เก็ตติงจะกลับมาเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนมากขึ้น แม้อาจยังมีแบบแบ่งกำไรหลงเหลือบ้าง (2) มาร์เก็ตติงและฝ่ายวิเคราะห์จะรักกันมากขึ้น เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นต้นทุนหมดแล้ว (3) ฝ่ายควบคุมความเสี่ยงจะทำงานหนักขึ้น เพราะโบรกเกอร์จะเสี่ยงมากขึ้นโดยเพราะปล่อยมาร์จินเพิ่ม (4) อาจเกิดฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้มาร์จิน (5) ผู้บริหารเป็นมืออาชีพมากขึ้น (6) บุคลากรที่ปรับตัวไม่ได้จะ ถูกตลาดขับออกไป และจะเกิดเลือดใหม่ขึ้น

เมื่อเปิดเสรีแล้วจะได้ยินคำว่ามาตรฐานของมืออาชีพและจรรยาบรรณมากขึ้น

หลังปี 2555 จะเห็นผลกำไรของโบรกเกอร์กลับมาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ส่วนความเสี่ยงในการทำกำไรของเหล่าโบรกเกอร์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าค่านายหน้าเปิดเสรี แต่อยู่ว่าเมื่อมูลค่าซื้อขายมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท/วัน จะส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ (โบรกเกอร์ใหม่) เข้าสู่ตลาดมากมาย นั่นแหละถือว่าเป็นความเสี่ยงในอุตสาหกรรมซื้อขายหุ้นว่าด้วยประสิทธิภาพการรักษาไว้ซื้อผลกำไร

เราขอจบนิทานเรื่องนี้ด้วยคำถามว่า “การทยอยเปิดเสรีในปี 2553-2554 นั้น คนในวงการนี้ต้องการก่อให้เกิดต้นทุนในตัวเอง หรือจะสร้างมูลค่าให้ตัวเองหรือจะทำอย่างไร? อันนี้เป็นคำถามที่ต้องตอบตัวเอง และจะต้องได้คำตอบก่อนปี 2555 !!!!



ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-13 10:42:11 IP : 203.154.146.54


Copyright © 2010 All Rights Reserved.