ReadyPlanet.com


สารพันคำถามกับ Derivative Warrants


Source : Post Today : July 10, 2009

เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) เรามี DW รุ่นแรก คือ PTT13CA ประเดิมซื้อขายกันไปแล้ว ดังนั้นในครั้งนี้ “นัดพบอนุพันธ์”

จะขอพูดถึงใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) หรือ DW อีกสักครั้ง ในประเด็นที่ผู้ลงทุนได้มีการสอบถามกันเข้ามา เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจคำถามแรก คือ ใครจะเป็นผู้ออก DW ได้บ้าง ตามเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้คุมกฎในปัจจุบัน ผู้ที่สามารถออก DW ได้ ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ โดยต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สำนักงานก.ล.ต. กำหนด ทั้งเรื่องความสามารถในการบริหารความเสี่ยงและฐานะการเงิน เช่น ผู้ออก DW ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ใน 4 ลำดับแรกจากสถาบันจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับ เป็นต้น ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ ก็อาจมีบริษัทหลักทรัพย์รายอื่นออก DW มาเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนได้อีกครับ

คำถามต่อมาก็คือ นอกจาก KGI ซึ่งเป็นผู้ออก PTT13CA แล้ว ผู้ออกรายอื่นสามารถออก DW ที่อ้างอิงกับหุ้น PTT ได้อีกหรือไม่ และหากมีผู้ออกหลายๆ รายออก DW บนหุ้นเดียวกัน จะมีการดูแลกันอย่างไร ผู้ลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่า DW รุ่นไหนเป็นของผู้ออกรายใด ในส่วนนี้ขอตอบว่า ผู้ออก DW หลายรายสามารถออก DW บนหุ้นอ้างอิงเดียวกันได้ และ DW ที่ออกโดยผู้ออกแต่ละรายนั้นจะใช้ชื่อย่อที่ต่างกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นความแตกต่างของ DW แต่ละรุ่นได้ โดยอักษรย่อของ DW จะขึ้นต้นด้วยชื่อย่อของหุ้นอ้างอิง ในกรณีของ PTT13CA ก็คือ PTT ตามมาด้วยหมายเลขประจำตัวของแต่ละโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ออก ในที่นี้คือ 13 ซึ่งเป็นหมายเลขโบรกเกอร์ของ KGI ถัดมาเป็นตัวอักษร C ซึ่งหมายถึง Call Warrant หรือสิทธิในการซื้อหุ้น และตัวอักษรปิดท้ายชื่อย่อ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ A ถึง Z ซึ่งแสดงถึงรุ่นของ DW โดย A หมายถึงรุ่นแรก ไปตามลำดับ ดังนั้นหากมีผู้ออกรายอื่นออก DW บน PTT อีก ชื่อย่อของ DW ตัวใหม่ ในส่วนของหมายเลขของโบรกเกอร์ก็จะเปลี่ยนไป เช่น หากโบรกเกอร์หมายเลข 6 เป็นผู้ออก ก็จะใช้ตัวเลข 06 แทนที่ตัวเลข 13 เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ DW มีได้เฉพาะ Call Warrant ที่อ้างอิงกับหุ้น 50 ตัวที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 Index เท่านั้นครับ

ส่วนความกังวลในเรื่องที่ผู้ออกหลายรายสามารถออก DW บนหุ้นเดียวกันแล้วจะมีการดูแลอย่างไรนั้น สำนักงานก.ล.ต. จะเป็น ผู้ติดตามควบคุมจำนวน DW ที่ออกไปแล้ว และกำลังจะออกทั้งหมดครับ โดยได้กำหนดให้ผู้ออก DW ต้องไปยื่นขอตรวจสอบหุ้นอ้างอิงกับสำนักงานก.ล.ต. ก่อนที่จะออก DW ซึ่งจะทำให้สำนักงานก.ล.ต. ได้ทราบและสามารถควบคุมจำนวนของ DW ได้ว่า ออกไปแล้ว เป็นจำนวนเท่าไร และจะมีการออกเพิ่มอีกเท่าไรโดยได้กำหนดเป็นแนวทางอนุญาตการออก DW ไว้เป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนหุ้นอ้างอิงครับ

คำถามยอดฮิตอีกเรื่องหนึ่ง คือ ควรซื้อขาย DW ที่ราคาใด จึงจะถือได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ไม่สูงหรือไม่ต่ำจนเกินไป ผู้ลงทุนสามารถใช้วิธีคำนวณราคา DW ที่เหมาะสมแบบคร่าวๆ โดยใช้การเปรียบเทียบราคาใช้สิทธิกับราคาตลาดของหุ้นอ้างอิงในอนาคตที่ผู้ลงทุนคาดไว้ ในกรณีของ PTT13CA วันใช้สิทธิจริงๆ คือวันที่ 18 ธ.ค. 2552 ซึ่งยังมาไม่ถึง สมมติว่าราคาตลาดของ PTT ปัจจุบันอยู่ที่ 230 บาท ผู้ลงทุนยังมีเวลาอีกประมาณ 5 เดือนกว่าๆ ให้ลุ้นว่าราคาตลาดของ PTT อาจสูงขึ้นไปที่ระดับเกินกว่า 252 บาท ที่เป็นราคาใช้สิทธิก็ได้ หากผู้ลงทุนคาดว่า ณ วันใช้สิทธิในเดือนธ.ค. ราคา PTT จะขึ้นไปได้ถึงระดับ 290 บาท ผู้ลงทุนอาจสนใจซื้อ PTT13CA ที่มีอัตราใช้สิทธิ 5 DW แลกหุ้น PTT 1 หุ้น ในวันนี้ ที่ราคาประมาณ 7.60 บาท คำนวณจาก (290-252)/5 หรือถ้าผู้ลงทุนคาดว่า ราคา PTT ในเดือนธ.ค. จะสูงขึ้น แต่อาจขึ้นได้เพียง 280 บาทเท่านั้น ราคา PTT13CA ที่ผู้ลงทุนควรจ่ายซื้อ ก็จะอยู่ที่ระดับ 5.60 บาท ในทางกลับกันหากพิจารณาแล้วเห็นว่า ราคา PTT ในอนาคตไม่เกินราคาใช้สิทธิ ราคา DW ที่คำนวณได้จะเป็น 0 บาท เป็นต้น ดังนั้นผู้ลงทุนสามารถใช้ราคา DW ที่คำนวณได้นี้มาเทียบกับราคา DW ที่ซื้อขายอยู่บนกระดานในปัจจุบัน เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความกังวลของผู้ลงทุนก็คือ กลัวว่าซื้อ DW ไปแล้วจะขายเพื่อทำกำไรไม่ได้ หรือกลัวว่าจะกลับมาซื้อ DW บนกระดานอีกไม่ได้ สำหรับเรื่องนี้ ได้มีการกำหนดกลไกที่จะช่วยลดความกังวลดังกล่าว คือ การซื้อขาย DW ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ดังนั้น ผู้ลงทุนจะได้เห็นราคาเสนอซื้อเสนอขายของ DW ที่ผู้ดูแลสภาพคล่องส่งเข้ามาในกระดานซื้อขาย เพื่อเป็นราคาที่ผู้ลงทุนจะใช้ในการตัดสินใจซื้อหรือขายครับ โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษาเงื่อนไขในการดูแลสภาพคล่องได้จากข้อกำหนดสิทธิของ DW แต่ละรุ่นว่า ผู้ดูแลสภาพคล่องจะส่งคำสั่งเสนอซื้อขายอย่างน้อยกี่ช่วงราคา และเสนอซื้อขายในปริมาณอย่างน้อยกี่หน่วย หรือมีเงื่อนไขใดบ้างที่ผู้ดูแลสภาพคล่องจะไม่ปฏิบัติหน้าที่

“นัดพบอนุพันธ์” หวังว่าคำตอบข้างต้นจะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ DW เพิ่มขึ้นนะครับ สำหรับท่านผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขาย DW สามารถติดต่อสอบถามขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นโบรกเกอร์ของท่าน และอย่าลืมว่าก่อนตัดสินใจซื้อขาย ผู้ลงทุนควรมั่นใจแล้วว่า มีความเข้าใจ DW อย่างถูกต้อง และครบถ้วนทุกประเด็นจริงๆ



ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-14 15:56:59 IP : 203.154.146.54


Copyright © 2010 All Rights Reserved.