ReadyPlanet.com


“ ความสำคัญของนักลงทุนต่างประเทศ”


“ ความสำคัญของนักลงทุนต่างประเทศ”

 

โดย...วิกรม  กรมดิษฐ์

มนุษย์เริ่มทำการค้าครั้งแรกตั้งแต่มีการเริ่มออกหาอาหารและมีส่วนเกินจากความจำเป็นในชีวิตประจำวันขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันแล้วจึงเกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวางแพร่หลายมากขึ้น   หลังจากที่มนุษย์รู้จักการเดินเรือ จึงได้มีการเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยน ติดต่อสื่อสาร ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก   การพัฒนารูปแบบการค้า ได้มีการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องของการซื้อขาย และมีมาตรวัดในการวัด***ส่วนแต่ละอย่างนำไปสู่การบรรจุ***บห่อเพื่อสร้างความสะดวกช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตัวสินค้า  นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการค้าขายดังกล่าวคือมนุษย์ได้นำเอาหลักความยุติธรรมในการซื้อขายและแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การเริ่มต้นของการลงทุนซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มของมนุษย์ที่แตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดจากแหล่งผลิตใดบนโลกนี้ทุกคนสามารถหาซื้อได้จากทุกหนทุกแห่งบนโลก  โลกเราวันนี้ได้ลดขนาดและเพิ่มวิธีติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบายจนอาจจะเรียกได้ว่า พรมแดนของโลกเรานี้ได้ถูกพังทลายลงไปแล้ว  หลาย ๆ ประเทศที่ใกล้ชิดกันได้ทำหารจับกลุ่มเพื่อก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มของตนเองอย่างกว้างขวางโดยนำไปสู่การรวมการปกครองระบบเศรษฐกิจ สังคมแบบเดียวกัน  อย่างการที่รัฐต่าง ๆ ของอเมริกามารวมประเทศเป็น สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่แคนาดา  ทางด้านยุโรปมีการรวมกลุ่ม EU ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยมีพื้นฐานจากการรวมตัวของประเทศที่มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจหรือแม้แต่ภาษาที่แตกต่างกัน แต่เหนือสิ่งอื่นได้ หลังจากเกิดการรวมกลุ่มแล้ว ทุกประเทศต่างได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันและประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนเพื่อนำไปสู่อำนาจการต่อรองที่มากขึ้น

นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดการรวมกลุ่มประเทศ ASEAN ขึ้น โดยในตอนแรกนั้นเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อความมั่นคงทางการทหาร แต่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาถึงเรื่องของการค้าและการลงทุน โดยเอาแบบอย่างที่เกิดขึ้นใน EU มาเป็นต้นแบบ แต่ความคืบหน้านั้นกลับไม่รวดเร็ว เพราะมีการร่วมมือต่ำและประสิทธิภาพก็ไม่ดีนัก จนในปัจจุบันจากความสำเร็จของ EU ทำให้ GDP ของ EU มากที่สุดในโลก เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก

การค้าการลงทุนจะประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ หรือกลุ่มประเทศนั้น ๆ ว่าจะรวมกลุ่มกันอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ต้นทุนประหยัดลงได้เท่าไหร่ เพื่อดึงดูดการค้า และเงินลงทุนเข้ามาสู่กลุ่มหรือประเทศของตนเองให้ได้มากที่สุด ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่จะมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศใด ๆ นั้น จะต้องสามารถที่จะขยายการค้าไปสู่ประเทศในกลุ่มหรือนอกกลุ่มได้ง่ายขึ้น   วันนี้เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ต้องการขายสินค้าไปทั่วโลก เลือกที่จะลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถส่งสินค้าออกขายในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับฐานการผลิตนั้นได้โดยปราศจากภาษี หรือหากมีก็อยู่ในอัตราที่ต่ำ

มีผู้บริโภคจำนวนมากในยุคปัจจุบันที่ซื้อสินค้าโดยยึดเอาตราหรือยี่ห้อเป็นหลักในการพิจารณาเลือกซื้อ  โดยไม่คำนึงว่าสินค้านั้นจะผลิตที่ใด เพราะบริษัทแม่ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้มีการควบคุมคุณภาพการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน  พฤติกรรมผู้บริโภคเช่นนี้ทำให้มีการขยายตัวในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผลประโยชน์จึงตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคที่สามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่จำกัดเรื่องสัญชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามควบคุมต้นทุน และตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพของบริษัทแม่

นักลงทุนจากต่างชาติ ( Foreign Direct Investment ) หรือ FDI  ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับดันเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา  ยกตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศที่สามารถดึงดูดเอา FDI ได้มากที่สุดคือญี่ปุ่น เพราะต้นทุนการผลิตยังต่ำอยู่ และประชากรของญี่ปุ่นก็เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และญี่ปุ่นเองก็ต้องการเงินจำนวนมหาศาลมาพัฒนาประเทศหลังจากที่ได้รับความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2

       ขณะนั้นนักลงทุนต่างชาติต่างเทเงินลงทุนทั้งหมดไปที่ญี่ปุ่น  และมีส่วนสำคัญที่การเมืองของประเทศตะวันตกที่กังวลว่า หากญี่ปุ่นหลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ตามรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ จะทำให้สถานภาพทางการเมืองของภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เพียง 10 ปีเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นก็สามารถกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง ส่งผลให้ต้นทุนต่าง ๆ ถีบตัวสูงขึ้นมาก จนญี่ปุ่นต้องย้ายการลงทุนไปยังประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้ประเทศเหล่านี้เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น ประกอบกับเม็ดเงิน และความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของประเทศตะวันตกได้ไหลบ่าเข้าไปด้วย ทำให้ช่วงระยะเพียง 10 ปีเช่นกัน เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ได้พัฒนาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในเรื่องของการค้า การลงทุน การเงิน และการธนาคาร  ที่เป็นเช่นนี้เพราะประชากรของทั้งสามประเทศนี้

เป็นแรงงานที่พร้อมจะเรียนรู้ และรัฐบาลเองก็เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ระบบกฎหมายการลงทุน กฎหมายแรงงานต่าง ๆ ที่ทำให้เหล่านักลงทุนสามารถลงทุนในประเทศเหล่านี้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

ต่อมาอีกไม่นานภาพอดีตเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นในฐานะ “ต้นแบบ” ก็ฉายซ้ำไปที่ประเทศทั้งสามนี้ เพราะต้นทุนการผลิตได้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว 30 กว่าปีที่ผ่านมาการลงทุนจึงเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามายังอาเซียน ซึ่งตอนนั้นลีกวนยู เพิ่งปกครองสิงคโปร์ได้ไม่กี่ปี แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขา ทำให้เขามีนโยบายที่เร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ระบบการศึกษาเพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างชาติ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนเหล่านี้ให้มากที่สุด โดยยึดเอาอังกฤษเป็นต้นแบบ และให้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มาวางนโยบายในการบริหาร ทำให้คนสิงคโปร์ในอดีตกลับกลายเป็นคนที่มีความรู้และมีระเบียบมีคุณภาพทัดเทียมกับคนยุโรป

ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจากต่างชาติจึงนำเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์  ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือการค้า  เพราะเมื่อ 30 กว่าปี่ที่แล้วนั้น ในอาเซียนยังถือว่าระบบต่าง ๆ ยังไม่สะดวก ทำให้นักลงทุนต่างชาติยึดเอาสิงคโปร์เป็นหลักในการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สิงคโปร์ก็ผันตัวเองจากประเทศที่ยากจนที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศไทย กลับกลายเป็นมากกว่าถึง 10 เท่า มาเลเซียเองก็เช่นกัน ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับเงินลงทุนจากต่างชาติตามสิงคโปร์แบบทันทีทันใด หลังจากที่สิงคโปร์ได้มีการแยกตัวออกไป  หลังจากที่มาเลเซียมีความพร้อมและมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนแล้ว ทำให้นักลงทุนนำเงินมาลงทุนที่มาเลเซียมากขึ้น เงินลงทุนจากสิงคโปร์ก็ไหล่เข้าสู่มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม  สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยให้สิงคโปร์และมาเลเซียพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว

        ปัจจุบันนี้กองทุนการเงินการลงทุนได้หันเหทิศทางไปลงทุนที่จีน หลังจากที่ที่ต้นทุนในสิงคโปร์และมาเลเซียสูงขึ้น ในช่วง 10 กว่าปี่ที่ผ่านมานี้ ถือว่าจีนเป็นประเทศที่มีเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุด ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นประเทศที่เติบโตมากที่สุดในโลก และมีเงินทุนสำรองในประเทศมากที่สุดในโลก ประเทศที่กำลังตามจีนมาติด ๆ ก็คือเวียดนามเองที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเหมือนกับประเทศที่กล่าวมาข้างต้น เพราะประชากรเวียดนามนั้นเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลเวียดนามเองก็มีความตั้งใจ และพร้อมที่จะออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการวาง

ระบบ และความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ  เช่นโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน หรือแม้กระทั่งกฎหมายการลงทุนใหม่ ๆ ที่เวียดนามดำเนินรอยตามประเทศที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว และนำมาปรับให้เหมาะสมกับเวียดนาม

ผมเชื่อเหลือเกินว่าอีกภายในไม่เกิน 3 ปี ทุกอย่างในเวียดนามจะเสร็จสมบูรณ์และมีความพร้อมการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เพราะเวียดนามอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจำนวนมากมายมหาศาล เพียงพอต่อการใช้ในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และวันนี้เราจะเห็นว่าเวียดนามกำลังจะวิ่งแซงหน้าบ้านเราไปเสียแล้วในผลิตภัณฑ์บางอย่าง โดยเฉพาะในช่วงสองปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ส่งออกมากกว่าประเทศไทยไปแล้วกว่า 40% ผมคิดว่าทุกอย่างที่ผลิตในเวียดนามได้ดี จะเป็นคู่แข่งของการส่งออกของไทยใน 3-5 ปีข้างหน้า หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทยเราจะสูญเสียโอกาส และความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศเหมือน 30 ปีที่แล้วที่เราเคยพลาดท่าให้กับ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซียมาแล้ว หากคนไทยและรัฐบาลไทยยังคงปิดหูปิดตาและไม่ยอมเข้าใจเสียทีว่าการลงทุนจากต่างชาติคืออะไร เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้บริหารที่จะนำประเทศไทยไปสู่ระดับสากลอย่างแท้จริง การมุ่งส่งเสริม สนับสนุนสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ เช่นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือการทำอาชีพและวิถีการดำเนินชีวิตแบบโบราณเดิม ๆ แถมเรายังมีกลุ่ม NGO ที่คอยออกมาต่อต้านต่างชาติไม่ให้เข้ามาลงทุนในประเทศแทบจะทุกชนิด เพราะมัวแต่ไปกลัวว่าต่างชาติจะมายึดประเทศไทย นอกจากนี้เรายังสร้างกฎหมายกีดกันต่างชาติที่มีความสามารถไม่ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย  การเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเรานั้นยังผูกอยู่กับคนแค่ไม่เกิน 500 ตระ***ลเท่านั้นเอง สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกที่เรากลัวว่าจะมีคนที่เก่งกว่าและมีความสามารถมากกว่าเข้ามาแย่ง และแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองจากคนกลุ่มเดิมไป ซ้ำยังมีราชการที่แอบแฝงอยู่ในรูปของการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน การที่แรงงานไทยต้องไปหางานทำในต่างประเทศนั้น เป็นเพราะเราตั้งนโยบายไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และมัวแต่รอคนไทยที่มีความสามารถมาสร้างโครงการใหญ่ ๆ ต่าง ๆ จนทำให้แรงงานไทยต้องออกนอกประเทศ เพราะเราไม่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น และเรายังปิดกั้นการลงทุนทั้งที่ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 550,000 ตร.กม. กลับไม่ยอมเปิดรับคนอื่นให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพียงแต่เรารู้จักที่จะเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ และธุรกิจต่างประเทศ ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จได้



ผู้ตั้งกระทู้ musashi โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2006-09-22 10:56:08 IP : 221.128.90.151


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (713213)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-07-18 14:55:51 IP : 203.146.127.159


ความคิดเห็นที่ 2 (748489)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-08-24 17:10:26 IP : 203.146.127.179



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.