ReadyPlanet.com


เลขาธิการก.ล.ต. ชี้ให้เห็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยจากปัญหาสินเชื่อ Subprime


เลขาธิการก.ล.ต. ชี้ให้เห็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยจากปัญหาสินเชื่อ Subprime
Posted on Tuesday, September 04, 2007

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดการเสวนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับระบบการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของบริษัทจัดการ ถึง “ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงในอนาคต” ว่า

เมื่อสองปีก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ในการสัมมมนาทางวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมได้รับเกียรติให้พูดใน Panel พร้อมกับ ดร.อัมมาร สยามวาลา และดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในวันนั้น ผมได้ชี้ว่าการเปิดประเทศของจีนมีผลกระทบมาก สินค้าราคาถูกจากจีนกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินผิดที่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ในความเห็นของผม ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้กดดอกเบี้ยไว้ในอัตราที่ต่ำมาก และเป็นเวลาที่นานหลายปีเกินไป จนทำให้ราคาบ้านอยู่อาศัยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดสภาวะฟองสบู่

ผมเล่าด้วยว่าผมได้เดินทางไปสหรัฐ และมีวันหนึ่งที่ผมนอนไม่หลับ เพราะเวลาที่แตกต่างกัน ผมจึงได้เปิดดูทีวีและประหลาดใจมากที่พบว่า มีรายการอยู่ถึง 2 ช่องที่เสนอขายหนังสือสอนวิธีรวยเร็วด้วยการซื้อ ๆ ขาย ๆ บ้านในสหรัฐ ผู้เขียนหนังสือได้ยืนยันว่า เป็นวิธีการรวยเร็วได้ผลอย่างแน่นอน เพียงแต่ท่านไปซื้อบ้านสักหลังหนึ่งแล้วทำการปรับปรุงเล็กน้อย ถือกรรมสิทธิ์ไว้สักพักแล้วค่อนขาย สภาวะตลาดขาขึ้นจะทำให้ท่านรวยอย่างไม่มีข้อสงสัย ในรายการก็จะมีบุคคลต่าง ๆ ที่ดูเป็นชาวบ้านธรรมดา มาพูดยืนยันความสำเร็จของตัวเอง แต่ละคนได้กำไรกันไปแล้วจำนวนมาก และยังจะดำเนินการตามสูตรรวยเร็วนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน ผมแจ้งในรายการสัมมนาในวันนั้นอาการลักษณะนั้นเป็นการส่อเค้าการเก็งกำไรที่สุกงอมเต็มที สถานการณ์ใกล้จะเกิดปัญหาแล้ว ปรากฏว่าผมคาดกาณ์เร็วไปสองปี และอาการปัญหาที่เพิ่มจะปะทุในวันนี้และก็มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกว้างขวางกว่าที่ผมคาดไว้

ในวันนี้ท่านได้ทราบข้อมูลแล้วว่า มีธนาคารพาณิชย์ในเอเชียหลายรายที่ไปซื้อหลักทรัพย์ประเภท Collateralized Debt Obligation ที่มีหลักประกันเป็นเงินกู้ผ่อนบ้านในระดับ Subprime และจะต้องมีการสำรองผลขาดทุน ปัญหานี้ ธนาคารพาณิชย์ในไทยก็มีด้วย ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างไร

***********************************************

สาเหตุแห่งปัญหา

สภาวะฟองสบู่ที่ราคาบ้านในสหรัฐฯ โน้มสูงขึ้นโดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้สถาบันการเงินแข่งขันกันในการปล่อยสินเชื่อกู้ผ่อนบ้าน การแข่งขันจึงได้ทำให้เกิดการหย่อนยานในมาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งมีการเสนอรูปแบบการกู้ใหม่ ๆ เพื่อพยายามจะให้ลูกค้าที่ฐานะการเงินอ่อนได้เงินกู้ง่ายขึ้น วิธีการให้กู้แบบใหม่เพื่อจูงใจลูกหนี้แบบหนึ่งคือ Interest Only Loan กล่าวคือให้ลูกหนี้ผ่อนแต่ละงวดโดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ยังไม่ต้องจ่ายเงินต้น กรณีเช่นนี้ ยอดเงินต้นของลูกหนี้จึงไม่ลดลงเลย เงินกู้แบบนี้เมื่อราคาบ้านโน้มลดต่ำลง มูลค่าของหลักประกันก็จะต่ำกว่ายอดหนี้อย่างรวดเร็ว

วิธีการให้กู้แบบใหม่แบบที่สองเรียกว่า Adjustable Mortgage Rate หมายความว่า เมื่อตอนเริ่มกู้นั้น จะยอมให้ลูกค้าผ่อนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ลูกค้ายอมให้ปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ กำหนดปรับดอกเบี้ยจะทำกันทุก 3-4 ปี เงินกู้แบบนี้เมื่อดอกเบี้ยเริ่มโน้มสูงขึ้นเหมือนในปีที่ผ่านมา ก็จะมีลูกหนี้บางรายที่ไม่มีกำลังจะผ่อนชำระตามจำนวนที่สูงขึ้น

วิธีการให้กู้แบบใหม่แบบที่สามเรียกว่า Stated Income Mortgage กล่าวคือลูกค้าจะแจ้งเงินเดือนหรือจำนวนรายได้ และสถาบันการเงินจะสอบถามยืนยันจากแหล่งที่ลูกค้าอ้างอิงว่ามีจริงหรือไม่ แต่ที่แปลกก็คือสถาบันการเงินจะไม่ยืนยันจำนวนเงินที่ลูกค้าสำแดงว่าถูกต้องหรือไม่ วิธีการที่ลัดขั้นตอนอย่างนี้ ลูกค้าจะต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น แต่ผู้ให้กู้ย่อมมีความเสียงมากขึ้น

วิธีการให้กู้แบบใหม่สุดท้ายเรียกว่า Equity Borrowing กล่าวคือ ลูกค้ารายใดที่ผ่อนบ้านตามสัญญาปกติมาระยะหนึ่ง สัญญาปกติหมายความว่า แต่ละงวดลูกค้าจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ยอดหนี้จึงได้ลดลงมาระดับหนึ่งแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้สถาบันการเงินก็จะติดต่อสนับสนุนให้ยกเลิกสัญญาเดิม แล้วกู้ยอดใหม่ที่สูงขึ้นเป็นการเพิ่มหนี้เข้าไปอีก ยอดหนี้ตามสัญญาเดิมนั้น มีหลักประกันมูลค่าเกินหนี้ชัดเจน แต่พอกู้ใหม่จึงกลายเป้นหนี้ที่มีหลักประกันปริ่ม ๆ อีกครั้ง และเมื่อราคาบ้านโน้มลดลง ก็เกิดความเสี่ยงที่จะเป็น NPL ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การที่สภาวะตลาดบ้านในสหรัฐฯ มีความสดใสเป็นเวลานาน บริษัทสร้างบ้านขายจึงเร่งมือเต็มที่ เมื่อสร้างบ้านขึ้นมาแล้วก็ต้องเร่งมือในการขายบ้านออกไปเพื่อไปบุกเบิกโครงการใหม่ และทำกำไรกันอีกรอบหนึ่งในการขายบ้านดังกล่าว ระยะหลังแทนที่ผู้ซื้อจะเป็นคนติดต่อกู้จากสถาบันการเงินเอง บริษัทสร้างบ้านจะเป็นผู้ติดต่อสถาบันการเงินให้แก่ผู้ซื้อ หรือบางครั้งบริษัทสร้างบ้านจะอำนวยความสะดวกโดยเป็นผู้ออกเงินให้กู้เองไปก่อน แล้วต่อมาจึงค่อยขายลูกหนี้ดังกล่าวออกไป

บัดนี้ ปรากฏข้อมูลว่า ได้มีบริษัทสร้างบ้านบางแห่งที่มุ่งเน้นที่จะขายบ้านให้ได้มากเกินไป ทำให้บางบริษัทให้ข้อมูลแก่สถาบันการเงินที่ไม่ถูกต้อง บางรายให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของผู้ซื้อ โดยกรณีที่ผู้ซื้อเป็นนักเก็งกำไรและมิได้ซื้อบ้านเพื่ออาศัยอยู่เอง ก็ได้รวมเอารายได้จากค่าเช่าเข้ามาเป็นรายได้ของผู้ซื้อไปด้วย ทั้งที่บ้านที่กำลังจะซื้อ ยังมิได้มีการให้เช่าออกไปแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อผู้ซื้อไม่สามารถหาคนเช่าบ้านได้ ก็กลายเป็น NPL บางรายก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ซื้อในลักษณะที่สามารถรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดีกว่าที่เป็นจริง ซึ่งต่อมาเมื่อดอกเบี้ยได้ปรับสูงขึ้น ผู้ซื้อก็ไม่มีกำลังผ่อนชำระตามที่กำหนดไว้

แต่ความเสี่ยงที่สูงที่สุดนั้น เกิดจากการที่ลูกค้าเก็งกำไร และกู้ผ่อนบ้านหลายหลังพร้อม ๆ กันเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมเห็นในทีวีสหรัฐฯ มีการสัมภาษณ์ผู้หญิง 2 คนที่เคยซื้อ ๆ ขาย ๆ บ้านเพื่อเก็งกำไร ทั้งสองคนแจ้งว่าเคยประสบความสำเร็จขายบ้านไปได้กำไรไม่น้อยกว่า 5-6 หลัง ซึ่งทำให้เกิดความย่ามใจ และขยายวง การเก็งกำไรออกไปเรื่อย ๆ ขณะนี้สภาวะตลาดตกต่ำ ทำให้ทั้งสองคนไม่สามารถขายบ้านที่ค้างอยู่ในมือออกไปได้เลย ทั้งสองคนเริ่มมีปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามงวด คนหนึ่งมีบ้านค้างอยู่ในมือ 3 หลัง อีกคนหนึ่งมีบ้านค้างอยู่ในมือ 8 หลัง ท่านลองคิดเอาเองนะครับ ว่าทั้งสองคนนี้จะมีความสามารถที่จะผ่อนชำระค่าบ้านไปได้อีกกี่เดือน

การกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อบ้านเกินกำลังของตนเอง การกระตุ้นให้ลูกค้าเก็งกำไรและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่บิดเบือนเหล่านี้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐฯขณะนี้ต้องมีการฟ้องคดีเพื่อยึดบ้านนำมาขายทอดตลาดเป็นจำนวนมาก แต่การขายทอดตลาดก็ทำได้ยาก เพราะบ่อยครั้งบริษัทสร้างบ้านได้สร้างเป็นโครงการใหญ่ เมื่อมีลูกค้าเก็งกำไรเป็นสัดส่วนสูง และไม่มีการเข้าไปอยู่อาศัยจริง ก็ทำให้หมู่บ้านรกร้าง หากจะมีผู้ซื้อที่ต้องการอยู่อาศัยจริง ก็อาจไม่กล้าเข้าไปอยู่ เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ สภาพบ้านที่รอขายทอดตลาด ก็จะถูกพวกขโมยเข้าไปรื้อถอนฝาบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้มูลค่ามีแต่ลดลง

***********************************************

ปัญหา Mark to Market

คำถามที่น่าคิดต่อไปคือ ทำไมเมื่อปัญหานี้ปรากฏ จึงเกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ปัจจัยที่สร้างแรงสั่นสะเทือน เกิดจากการที่สถาบันการเงินได้คิดวิธีพลิกแพลงในการนำสัญญากู้ผ่อนบ้านเหล่านี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์ แต่ครั้งนี้มิได้นำสัญญาย่อยมา Securitized เป็น Collateralized Debt Obligation (CDO) แบบธรรมดา เขาได้พลิกแพลงใช้วิธีแบ่งความเสี่ยงของหลักทรัพย์นั้นออกเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า Multiclass

ในกองทุนแบบ Multiclass นั้น ผู้ถือหลักทรัพย์ชั้นต่ำสุด คือ ชั้นที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด จะทำสัญญากับผู้ถือหลักทรัพย์ชั้นที่อยู่เหนือกว่าโดยสัญญาว่าถ้า Port ลูกหนี้รายย่อยนี้เกิดเป็น NPL ผู้ถือหลักทรัพย์ชั้นต่ำสุดจะรับความเสียหายไปก่อน ต่อเมื่อหมดเงินในชั้นนี้ไปแล้ว และหากยังมีความเสียหายอยู่อีก จึงจะลามไปกระทบผู้ถือหลักทรัพย์ชั้นที่สูงกว่า การแบ่งความเสี่ยงที่ต่างกันเช่นนี้ อาจจะแบ่งเป็น 2 ชั้น หรืออาจจะมากถึง 4-5 ชั้นก็ได้ ยิ่งแบ่งชั้นมาก ผู้ถือหลักทรัพย์ในชั้นสูงสุดก็ยิ่งมีความเสี่ยงน้อยลง ๆ จนกระทั่งสามารถให้ Rating ชั้นสูงสุด สูงเป็น AAA ก็ได้ วิธีแบ่งแบบ Multiclass นี้เอง ที่ทำให้ตราสารกลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางชั้นสูงสุด ก็สามารถเสนอขายแก่ผู้ลงทุนที่ Conservative ส่วนชั้นต่ำ ๆ ก็มักจะขายให้แก่ Hedge Fund เพราะอัตราผลตอบแทนสูงมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงมาก ตราสารเหล่านี้ได้ขายกระจายไปทั่วโลก ผู้ซื้อมีทั้งธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐฯ ในยุโรป และในเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย และยังมีกองทุนรวมต่าง ๆ อีกมาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ ขายให้แก่กองทุนประเภท Hedge Fund

ปัจจัยที่สร้างปัญหาอย่างมากปัจจัยหนึ่ง คือ การที่ Rating Agency ได้เข้าไปร่วมขบวนการพิจารณากำหนดโครงสร้างการแบ่งชนชั้น Multiclass ด้วยตนเอง ทำนองว่าให้ข้อมูลแต่เบื้องต้นว่า จัดโครงสร้างโดยทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ทาง Rating Agency ก็จะยินยอมให้ Rating ที่สูงขึ้น ปัจจัยที่สร้างปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การที่ตราสารดังกล่าวแต่ละ Class มีสภาพคล่องไม่มากนักเมื่อผู้ขายระดมกันขายออกมา จึงทำให้ราคาไหลต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นตลาดขาดเดียว ราคาไหลลงเร็ว จนกระทั่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแทบไม่มีใครกล้าตั้งราคาเสนอซื้อ เมื่อไม่มีใครเสนอซื้อที่ชัดเจนเช่นนี้ จึงทำให้กองทุนรวมขนาดใหญ่ในยุโรปบางกองทุนไม่สามารถขายตราสารออกไปได้ และจำเป็นต้องประกาศระงับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นชั่วคราว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะสามารถเกิดขึ้นในตลาดที่พัฒนาแล้วเช่นนี้ นอกจากสภาพคล่องต่ำทำให้ราคาต่ำไปด้วยแล้ว เมื่อปรากฏภายหลังว่าข้อมูเกี่ยวกับรายได้ของลูกหนี้อาจจะมีการบิดเบือน ยิ่งทำให้การประเมินความเสี่ยงของแต่ละ Class ทำยากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ในอดีตนั้นสมมติมีตราสารเพียงสองชั้น คือ ชั้นที่ต่ำกว่า คือ BBB Subprime ซึ่งรับความเสี่ยงเต็มที่ กับชั้นที่สูงกว่า คือ A non-Subprime กรณีเช่นนี้ ถ้าลูกหนี้รายย่อยกลายเป็น NPL ตามสัดส่วนปกติในอดีต สัดส่วนหนี้เสียอาจจะกินเฉพาะชั้น BBB และไม่น่าจะลุกลามไปถึงชั้น A แต่เมื่อปรากฏสัดส่วน NPL สูงกว่าปกติ เนื่องจากข้อมูลที่บิดเบือนดังกล่าว สัดส่วนหนี้เสียอาจจะกินเข้าไปถึงชั้น A ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การกำหนดราคาสำหรับชั้น A Non-Subprime ทำได้ยากขึ้น

ส่วนตราสารชั้น BBB Subprime นั้นไม่ต้องพูดถึง ราคาตลาดมีแต่จะลดลง เพราะปัญหา NPL จากกลุ่มเก็งกำไรมีแต่จะลุกลามมากขึ้น ๆ นอกจากนี้ ในปี 2008 คือ ปีหน้า จะมีสัญญากู้แบบ Adjustable Rate ที่ครบกำหนดต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก และสัญญาเหล่านี้ได้ทำไว้เดิมเมื่อ 3 ปีก่อน ในขณะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก ลูกค้าหลายรายจะไม่สามารถผ่อนชำระเงินที่เพิ่มขึ้นได้ ข้อมูลล่าสุดในขณะนี้มี Investment Bank ระดับใหญ่ในสหรัฐฯรายหนึ่งที่ประกาศว่ากองทุน Hedge Fund ที่ตนจัดตั้งขึ้นที่เน้นลงทุนในตราสารชั้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือที่เรียกว่า Subprime นั้น มีสองกองทุนที่เดิมเคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 1,500 ล้านเหรียญ แต่บัดนี้ กองทุนทั้งสองเข้าขั้นล้มละลาย ราคาหลักทรัพย์ได้ตกต่ำลงจนกองทุนทั้งสองแทบไม่มีมูลค่าเหลือเสียแล้ว

ปัจจัยที่สามที่ทำให้ปัญหานี้มีผลกระทบกว้างขวาง กองทุนรวมปกตินั้น เมื่อมีปัญหาไม่สามารถขายตราสารหนี้ได้ ก็ใช้วิธีประกาศหยุดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนชั่วคราวได้ วิธีนี้ก็ช่วยระงับให้ผลกระทบแผ่กว้างได้ทางหนึ่ง สำหรับกองทุนประเภท Hedge Fund นั้น โดยทั่วไปจะไม่มีปัญหาเช่นนี้ เนื่องจากกำหนดให้ผู้ถือหน่วยที่ต้องการไถ่ถอนแจ้งล่วงหน้านาน และมักจะเปิดให้ไถ่ถอนเพียงเดือนละครั้งหรือไตรมาสละครั้ง แต่กองทุนประเภท Hedge Fund กลับกลายเป็นตัวที่ก่อปัญหาให้กระจายไปทั่วโลก

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากกองทุนประเภทนี้ มีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก ดังนั้น เมื่อสภาวะตลาดทุนมีความผันผวน เจ้าหนี้ก็จะเรียกให้กองทุนวาง Margin เพิ่มขึ้น เมื่อกองทุนถูกเรียก Margin Call เช่นนี้ กองทุนก็ต้องทยอยขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในมือออกไป Hedge Fund จึงทำการขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ออกไปทั่วโลก แห่งละนิดละหน่อย แต่การขายที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั้น ทำให้ตลาดหุ้นและตลาด Bond ทั่วโลกถูกกระทบอย่างฉับพลัน

***********************************************

บทเรียนสำหรับประเทศไทย

คำถามสุดท้ายที่ต้องถามตัวเองก็คือ ปรากฏการณ์นี้มีบทเรียนสำหรับประเทศไทยอะไรบ้าง บทเรียนที่หนึ่งในฐานะผู้ลงทุน คือ สถานะด้านเครดิตของหลักทรัพย์ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากและเร็วกว่าที่คิด กรณีนี้มีคำถามที่ Rating Agency ระดับสากลจะต้องตอบ เพราะการทำ Rating Multiclass CDO นั้นเป็นรายได้สำคัญ จึงต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่าขั้นตอนการพิจารณาได้มี Conflict of Interest หรือไม่

ในแง่ผู้ลงทุนนั้น สำหรับรายที่เดิมได้เลือกลงทุนเฉพาะชั้น Non-Subprime ก็น่าเห็นใจ สภาวะความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้ราคาหลักทรัพย์ในอนาคตลดลงไปบ้าง บทเรียนในกรณีนี้ก็คือ ถ้าเห็นว่าตลาดใดมีอาการฟองสบู่ อย่างที่ผมได้เตือนไปตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน กรณีเช่นนี้ ควรจะเลี่ยงหลักทรัพย์ที่พัวพันกับฟองสบู่เสียดีกว่า แต่สำหรับผู้ลงทุนที่เน้นเฉพาะ Subprime นั้น คงเห็นใจอะไรไม่ได้ คงต้องบังคับให้ยอมรับสภาพความเป็นจริง และลงบัญชีให้ถูกต้อง เพราะจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ลงทุนทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นในอนาคต ที่จะอาศัยงบดุลบัญชีของกิจการในการตัดสินใจ

บทเรียนที่สองในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างตลาดทุน ผมจำได้ว่าก่อนที่ผมเข้ารับตำแหน่งช่วงปลายปี 2546 ได้เคยเกิดปัญหาการรุมไถ่ถอนกองทุนรวมในประเทศไทย สำหรับกองทุนที่เน้นลงทุนใน Bond เกิดขึ้นในช่วงระหว่างกันยายน - ตุลาคม 2546 มีการไถ่ถอนไปถึง 72,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของกองทุนรวมประเภทดังกล่าว เหตุผลหลักที่เกิดการรุมไถ่ถอน คือ ราคา Bond ทั่วไปได้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ในสถานการณ์ที่ราคาลดลงนั้น มีบางกองทุนที่มิได้ Mart to Market ให้สะท้อนราคาที่จะขาย Bond นั้นได้จริง ๆ คือ กลัว Net Asset Value จะลดลงมากจนเกินไป จึง Mark to Market ตามราคาทฤษฎี ซึ่งภายหลัง เมื่อจำเป็นต้องขาย Bond นั้นออกไปจริง ๆ ก็พบว่าได้ราคาต่ำกว่าราคาทฤษฎีที่คาดไว้ ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงเห็นว่า หากตัวเองไถ่ถอนในวันนี้ ย่อมได้ราคาที่สูงกว่าไถ่ถอนในวันถัด ๆ ไป เมื่อมีการขาย Bond ออกไปจริง จึงทำให้เกิดการ run

ปัญหาการ Mark to Market ตราสารหนี้ขณะนี้ได้รับการแก้ไขไปแล้วระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันนั้นมี Thai BMA ทำหน้าที่คำนวณราคาสำหรับหลักทรัพย์ที่ไม่มีการซื้อขายกันอย่าง Active เพื่อให้กองทุนต่าง ๆ นำไปใช้ Mark to Market บทเรียนที่ต้องแนะนำไปที่ Thai BMA จึงต้องเน้นให้มีการกำหนดราคาที่ใกล้เคียงตลาดที่แท้จริงให้มากที่สุด โดยเฉพาะควรจะต้องให้มีช่วงห่างระหว่างราคาเสนอซื้อกับราคาเสนอขาย ให้สะท้อนราคาตลาดที่แท้จริงทั้งสองด้านให้มากที่สุด

ที่มา : Money Channel



ผู้ตั้งกระทู้ musashi โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-09-06 22:04:48 IP : 58.64.90.14


Copyright © 2010 All Rights Reserved.