ReadyPlanet.com


ควรให้ความสำคัญกับดัชนี MSCI แค่ไหน?


คอลัมน์                  หน้าต่าง ก.ล.ต.

โดย                         รพี สุจริตกุล

 

ควรให้ความสำคัญกับดัชนี MSCI แค่ไหน?

 

ผู้ลงทุนที่เฝ้าติดตามข่าวที่มีผลต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคงจะได้ยินชื่อดัชนี MSCI มาบ้างไม่มากก็น้อย ในวันนี้จึงอยากจะมาขยายความถึงที่มาที่ไปของดัชนี MSCI กันเสียหน่อยนะครับ   ดัชนี MSCI เป็นดัชนีที่บริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) จัดทำขึ้นเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดผลตอบแทนของกองทุนต่าง ๆ ที่ตนเองประสงค์จะเข้าไปลงทุน ซึ่งดัชนีของ MSCI มีหลายชุด เช่น  ดัชนีของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets : DM) กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets : EM)  หรือทุกประเทศรวมกัน (All Countries) ซึ่งถ้าหากผู้จัดการกองทุนใดสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละกลุ่มประเทศได้สูงเกินกว่าการปรับตัวของดัชนีของ MSCI ในแต่ละช่วงเวลาแล้ว ก็จะถือว่า เป็นเรื่องที่จะสามารถเอาไปโฆษณาถึงความเก่งกาจของตนเองได้ เปรียบเทียบได้เสมือนกับผู้จัดการกองทุนไทยที่จะโฆษณาอยู่เสมอว่ากองทุนของตนนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงของ SET index

 

ดัชนี MSCI ที่ตลาดทุนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยและมีการกล่าวถึงในประเทศไทยมากที่สุดคือ ดัชนี MSCI AC Far East Free ex Japan ซึ่งเป็นดัชนีรวมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกไกล แต่ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่อยู่ในดัชนีนี้มี 9 ประเทศได้แก่ เกาหลีใต้  ฮ่องกง  ไต้หวัน สิงคโปร์  จีน  มาเลเซีย  ไทย อินโดนีเซีย  และฟิลิปปินส์  ซึ่งน้ำหนักของแต่ละประเทศที่ถูกคำนวณรวมอยู่ในดัชนีนี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามสูตรคำนวณที่ MSCI เป็นคนคิดค้น โดยน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบมูลค่ารวมของหลักทรัพย์ในแต่ละตลาดเป็นหลัก ความสำคัญของน้ำหนักของแต่ละประเทศก็จะมากโขอยู่ เพราะเวลาที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินมาลงทุนในแถบประเทศบ้านเรา ก็จะกระจายการลงทุนไปตามประเทศต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นดัชนี และประเทศใดมีน้ำหนักมาก ตลาดของประเทศนั้นก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้จัดการกองทุนที่วัตถุประสงค์ในชีวิตคือ การสร้าง

ผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าผลตอบแทนของดัชนี MSCI 

 

คำถามที่จะเกิดขึ้นในใจของพวกเราก็คือ ทำอย่างไรเล่า น้ำหนักของประเทศไทยในดัชนี MSCI จะเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 3.21% เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าหาก % ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็ต้องแปลว่าน้ำหนักของบางประเทศในอีก 8 ประเทศที่เหลือจะต้องลดลง ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อน้ำหนักดังกล่าวที่เปลี่ยนได้ง่ายที่สุด ก็คือ มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในดัชนีเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในดัชนีด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน น้ำหนักของประเทศไทยก็จะสามารถไปเบียดน้ำหนักของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวได้

 

ปัจจัยที่สองคือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นที่อยู่ในดัชนี  ปัจจัยนี้เช่นเดียวกับปัจจัยแรกครับ กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทตก ก็จะทำให้มูลค่าตลาดรวมของประเทศไทยที่คิดเป็นดอลล่าร์สหรัฐลดลงด้วย และมีผลทำให้น้ำหนักการลงทุนในไทยลดลง  เว้นแต่ถ้ามูลค่าตลาดของประเทศอื่นลดลงในสัดส่วนที่มากกว่า น้ำหนักการลงทุนในไทยก็อาจไม่ลด ทั้งนี้ ปัจจัยทั้งสองที่กล่าวมาจะเป็นเรื่องที่นักลงทุนสามารถหาตัวเลขมาคำนวณน้ำหนักที่เปลี่ยนไปได้ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องรอข่าวใด ๆ จาก MSCI

 

สำหรับปัจจัยที่สามที่จะมีผลกระทบต่อน้ำหนักของตลาดแต่ละประเทศในดัชนี MSCI จะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์แต่ละตัวที่ MSCI เลือกมาใช้ในการคำนวณมูลค่าตลาดของแต่ละประเทศซึ่งในเรื่องนี้ MSCI จะทำการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ และ MSCI ค่อนข้างที่จะเรื่องมากทีเดียว  เพราะจะไม่นำมูลค่าของหลักทรัพย์ทุกตัวในตลาดทั้งหมดมาใช้  แต่จะคัดเลือกหลักทรัพย์มามูลค่าประมาณ 85% ของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ทั้งหมดในประเทศเท่านั้น และจะคำนวณมูลค่าตลาดจากเฉพาะหลักทรัพย์ในส่วนที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาทำการซื้อขายได้ ซึ่งแปลว่า เขาเลือกเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่อง  และเมื่อเลือกตัวหลักทรัพย์แล้ว ยังจะนับเฉพาะส่วนที่ไม่มีข้อจำกัดการถือครองของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า Foreign Inclusion Factor (FIF) ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัท ก . ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด เท่ากับ 10,000 ล้านบาท (1,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท) แต่ถ้าหากหุ้นดังกล่าวมีส่วนที่ชาวต่างชาติสามารถจะถือครองได้เพียง 40% มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวที่สามารถนำมาคำนวณเป็นมูลค่าตลาดของแต่ละประเทศจะเป็นเพียงแค่ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น  และ MSCI ก็จะใช้สูตรดังกล่าวให้ได้หุ้นจากทุกหมวดอุตสาหกรรมของตลาดแต่ละประเทศ เพื่อรวมเข้ากันเป็นมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทย กล่าวโดยสรุป หากหุ้นต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติหรือจำนวนหลักทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วไปสามารถจะเข้าไปทำการซื้อขายมีจำนวนน้อยแล้ว (free float) มูลค่ารวมของตลาดของประเทศไทยก็จะน้อยตามไปด้วย เพราะ

เหตุนี้ จากหลักทรัพย์ทั้งหมด 400 กว่าหลักทรัพย์ มูลค่า 70,995 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เป็นตัวเลขที่ไม่ได้ปรับ free float และ FIF) จึงมีหลักทรัพย์เพียงแค่ 35 หลักทรัพย์ มูลค่า 15,385 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (หลังจากปรับ free float และ FIF) เท่านั้น ที่ได้ถูกนำมาคำนวณเป็นมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทยในดัชนี MSCI  ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2546

 

ปัจจัยท้ายสุดนี้เรียกว่าเป็นการปรับองค์ประกอบของหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนี  ซึ่งปรับกันทุก ๆ เดือน กุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน โดยในเดือนพฤษภาคมจะเป็นการปรับใหญ่ประจำปี อย่างเช่นตอนที่เขายอมเพิ่มค่า FIF ให้หลักทรัพย์ของไทยเนื่องจากการนับ NVDR ก็เกิดขึ้นตอนปรับใหญ่นี่แหละครับ  และเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างเฝ้ารอคอย เพราะการปรับองค์ประกอบแต่ละครั้ง จะมีผลต่อการที่นักลงทุนต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ตามไปด้วย

 

 

สำหรับการประกาศปรับองค์ประกอบของหลักทรัพย์เมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ ไม่มีการเพิ่มหรือลดหลักทรัพย์ของไทย  แต่ได้เพิ่ม FIF  ให้ 2 หลักทรัพย์ และลด FIF ลง 1 หลักทรัพย์ ซึ่งก็มีผล

ทำให้น้ำหนักการลงทุนของไทยเพิ่มนะครับ แต่คงเพราะมีการเพิ่มให้แก่หลักทรัพย์ประเทศอื่นมากกว่า

 น้ำหนักการลงทุนของไทยที่คำนวณได้จากผลของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จึงลดลง 1 basis point  

แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าตลาดหลักทรัพย์บ้านเรามีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงกลับเป็นผลทำให้ น้ำหนักของประเทศไทยในดัชนี MSCI กลายเป็น 3.21% จากที่เคยอยู่ที่ 2.9% เมื่อเดือนเมษายน

 

มาตรการในเรื่องนี้ที่ ก.ล.ต. ได้พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ก็คือการโน้มน้าวบริษัท

จดทะเบียนที่ใกล้เข้าข่ายถูกรวมอยู่ใน MSCI ให้เพิ่มสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่นักลงทุนทั่วไปสามารถ

ซื้อขายได้ (free float)  นอกจากนี้  ปัจจัยนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้พยายามให้มีสัดส่วนของหุ้นที่กระจายสู่ประชาชนทั่วไปเป็นสัดส่วนที่สูง เพื่อให้หุ้นดังกล่าวสามารถเข้าไปหมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายหลังที่ได้จดทะเบียนในตลาด

หลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ MSCI เพิ่มจำนวนหลักทรัพย์ไทยในดัชนี และมีผลให้น้ำหนักของการลงทุนในตลาดไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งต่อไป

 

----------------------------------------------------------------

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-05-20 19:06:30 IP : 172.31.166.12


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2178911)

MSCI รอบใหม่ มีผลบังคับใช้วันที่ 31 พ.ค.

น้ำหนักการลงทุนใน Emerging Country Weight ภาพรวมเพิ่มน้ำหนัก 0.25% เป็น 59.34%

¸ ลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทย 0.02%

MSCI Global Small Cap Index

· เพิ่มหุ้น : AOT / RATCH / SCCC / VNT => น่าสนใจ

¸ เอาออก: BMCL / TRUE => หลีกเลี่ยง

MSCI Thailand Index

· เพิ่มน้ำหนักการลงทุน: GLOW / SCB => น่าสนใจ

¸ ลดน้ำหนักการลงทุน: BANPU / BEC => หลีกเลี่ยง

¸ และลดจำนวนหุ้นการถือครอง : IVL => หลีกเลี่ยง

ผู้แสดงความคิดเห็น dr_morky ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-05-20 19:08:24 IP : 172.31.166.12


ความคิดเห็นที่ 2 (2178912)

http://www.msci.com/products/indices/size/standard/index_review.html

MSCI  link

ผู้แสดงความคิดเห็น dr_morky (dr_morky-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-05-20 19:09:36 IP : 172.31.166.12



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.