ReadyPlanet.com


เหตุที่ต้องพึ่งส่งออก&ความเสี่ยงดอกเบี้ยต่ำ


เหตุที่ต้องพึ่งส่งออก&ความเสี่ยงดอกเบี้ยต่ำ
Source - มติชน (Th)
 Thursday, May 10, 2007  04:19
 
          โดย นงนุช สิงหเดชะ
          หลังจากไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ ก็เกิดเสียงวิจารณ์โดยพุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหลัก หาว่าไม่สนใจกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ไม่ยอมลดดอกเบี้ยลงมากๆ เร็วๆ มัวแต่อุ้มภาคส่งออก

           เป็นธรรมดาเมื่อเศรษฐกิจเกิดขัดข้องขึ้นมา เราก็มักมุ่งมองเฉพาะจุดว่าเป็นปัญหา โดยที่ลืมมองภาพรวมและก็ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้มาช้านานกว่า 50 ปีแล้ว นับแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็ว่าได้

           โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ว่านี้ก็คือพึ่งพารายได้จากการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 65-70% ของจีดีพี ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนคำนวณว่าหากรวมรายได้จากภาคท่องเที่ยวเข้าไปด้วย (นักท่องเที่ยวต่างชาติ) ก็นับว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกถึง 80%

           ลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจที่ว่านี้ของไทยไม่ได้แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้เลย โลกส่วนใหญ่แม้แต่ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ก็อาศัยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

           มีประเทศเดียวในโลกคือสหรัฐอเมริกา ที่สามารถใช้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคภายในของสหรัฐนั้นมีขนาดใหญ่คิดเป็น 2 ใน 3 ของจีดีพีคือเกินครึ่งเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสหรัฐอเมริกาจึงมีความกังวลอย่างสูงเมื่อยอดขายบ้านที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 18 ปีอย่างในขณะนี้ และทำไมจึงมีอาการผวาทุกครั้งที่ยอดขายรถยนต์ลดลง

           ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงสามารถใช้การบริโภคภายในเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คำตอบก็คือสหรัฐอเมริกาพิมพ์ธนบัตรใช้ได้เอง เวลาจะพิมพ์ธนบัตรก็ไม่ต้องมีอะไรมาหนุนหลัง ผิดกับประเทศอื่นๆ เช่น ไทยที่เวลาจะพิมพ์ธนบัตรต้องมีสิ่งหนุนหลังเช่นทองคำ

           อีกทั้งเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ได้รับความเชื่อถือสูง ทั่วโลกประมาณ 80% นิยมใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้ามากว่า 100 ปีแล้ว ดังนั้น เวลาสหรัฐออกพันธบัตร (เพื่อกู้ยืมเงิน) ออกมาเท่าไหร่ก็ขายได้ มีแต่คนอยากซื้อ ดังนั้น อเมริกาจึงเป็นชาติที่ใครๆ ก็อยากให้กู้ยืมเงิน

           สำหรับประเทศไทยหากต้องการให้การบริโภคภายในสูงขึ้น ก็ต้องสร้างคนชั้นกลางขึ้นมามากๆ และเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) เพิ่มการผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องโยนคำถามว่าที่ผ่านมามีรัฐบาลใดทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลที่แล้วแม้จะประกาศว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยจะปรับมาเป็นการพึ่งบริโภคภายใน 50% และพึ่งส่งออก 50% ด้วยนโยบายเศรษฐกิจสองขาหรือดูอัล แทร็ค แต่ 5 ปีผ่านไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

           รวมทั้งนโยบายที่ประกาศว่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการแข่งขัน ก็ไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลคุณทักษิณก็มัวแต่อีนุงตุงนังอยู่กับการแจกเงินมากเกินไป เนื่องจากมุ่งผลักดันให้เศรษฐกิจโป่งพองมากเกินเหตุ จนละเลยการพัฒนาฐานรากเพื่อการแข่งขันระยะยาว

           เรื่องการลงทุนจากต่างชาติก็เช่นกัน ในช่วงนี้ก็ชี้นิ้วโทษไปที่สองเรื่องใหญ่ คือการที่แบงก์ชาติออกมาตรการให้ต่างชาติกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% และกรณีกระทรวงพาณิชย์แก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทั้งที่สาเหตุหลักอันหนึ่งก็คือไทยขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ทำให้ขาดแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

           ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น ก็น่าห่วงที่เกิดกระแสกดดันให้แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ยลงมากๆ แบบไม่ต้องดูปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะบางคนใช้วิชา "คณิตศาสตร์พื้นฐาน" มาวิจารณ์เรื่องนโยบายดอกเบี้ยอันเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ 1+1 เป็น 2

           ยกตัวอย่างกรณีที่วิจารณ์ว่ามาตรการกันสำรอง 30% เป็นความผิดพลาด แล้วก็อ้างแบบเดิมๆ ว่าหากลดดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรและจะแก้ปัญหาเงินบาทแข็งได้

           ทฤษฎีเรื่องลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้ค่าเงินอ่อนและช่วยสกัดการไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไร ไม่ถูกต้องเสมอไปเพราะนักลงทุนมักคำนึงถึงผลตอบแทนจากส่วนต่างค่าเงิน (อ่อนหรือแข็ง) มากกว่าส่วนต่างดอกเบี้ย

           ในที่นี้ขออ้างอิงข้อมูลของคุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล (คนแบงก์ชาติ) ที่ได้หยิบยกเอาผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งทำการศึกษากรณีของเยอรมนี ญี่ปุ่น และอังกฤษ ระหว่างปี 2522-2543 สรุปว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินกับส่วนต่างดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยพื้นฐานแตกต่างกันและมีความเข้มข้นในการแทรกแซงค่าเงินแตกต่างกัน

           ที่สำคัญนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับกำไรที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน มากกว่าจะสนใจกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย ดังนั้น ในช่วงที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ผลในการสกัดเงินไหลเข้า เพราะสภาวะเช่นนี้ กำไรที่เกิดจากการแข็งค่าหรือการเปลี่ยนแปลงของเงิน จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยหลายเท่า

           ยกตัวอย่าง ในช่วงก่อนวันที่ 11 เมษายน 2550 หรือช่วงก่อนที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย 0.50% นั้นดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าสหรัฐ 0.75% (ไทย 4.50% สหรัฐ 5.25%) ต่อปี แต่ในบางช่วงที่ค่าเงินแข็งขึ้น 20 สตางค์ต่อวัน ตีกลับเป็นผลตอบแทนประมาณ 150% ซึ่งสูงกว่ากำไรที่ได้จากดอกเบี้ยหลายเท่า

           นอกจากนี้แม้แต่ช่วงก่อนปี 2547 ที่ดอกเบี้ยของไทยต่ำมากแค่ 1.25% ยังมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง บางคืนไหลเข้าทีเดียว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีธุรกรรมรองรับ

           เรื่องลดดอกเบี้ยที่บอกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยลดช้าไปนั้น ความจริงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วยังไม่น่าวางใจ เพราะน้ำมันกลับมาดีดตัวสูง ซึ่งสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกห่วงก็คือผลกระทบรอบที่สอง ที่สามหรือสี่อันเกิดจากราคาน้ำมันที่มีต่อต้นทุนสินค้า ซึ่งผลกระทบรอบที่สองเป็นต้นไปนี้จะหนักหน่วงรุนแรงจนยากต่อการควบคุมเงินเฟ้อ

           ปกติเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้นทุนสินค้าจะแพงขึ้น หากเป็นภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าจะไม่กล้าขึ้นราคา และแรงงานก็จะไม่เรียกร้องเพิ่มค่าแรง แต่หากในภาวะที่เศรษฐกิจดี แรงงานจะมีการขึ้นค่าแรง มีการปรับเงินเดือน จุดนี้จะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจากรอบแรกที่สูงไปเพราะน้ำมันอยู่แล้ว นี่คือภาวะ "ผลกระทบรอบที่สอง" ที่ธนาคารกลางทุกประเทศกลัวมาก

           ดังนั้น เหตุที่ไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว แบงก์ชาติของไทยยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยก็ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะเกิด "ผลกระทบรอบที่สอง" นี่เอง จึงต้องรอดูสถานการณ์ให้แน่ใจก่อน

           เคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า ในช่วงวิกฤตน้ำมันรอบแรกเมื่อปี 2516 สหรัฐอเมริการีบลดดอกเบี้ยทันทีเมื่อราคาน้ำมันลดลง ผลก็คือเงินเฟ้อดีดตัวสูงอย่างรวดเร็ว กว่าจะดึงลงมาได้ใช้เวลาเกือบ 1 ปี

           ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันรอบที่สองเมื่อปี 2522 สหรัฐเลือกขึ้นดอกเบี้ยทันทีแทนที่จะลดเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ผลก็คือสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในเวลาอันสั้น และวิกฤตรอบน้ำมันล่าสุดคือรอบปัจจุบันจะเห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ย ทั้งที่หากคิดโดยสามัญสำนึกธรรมดา หรือคิดแบบคณิตศาสตร์พื้นฐานจะต้องลดดอกเบี้ย

           ระวังเถอะมักง่ายเรียกร้องจะเอาแต่ดอกเบี้ยต่ำๆ หากเมื่อไหร่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วและประจวบเข้ากับราคาน้ำมันที่ยังสูงอยู่ในขณะนี้ จนทำให้เงินเฟ้อดีดตัวสูง หากแบงก์ชาติเขาต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทีละ 1 บาท ก็อย่ามาโอดครวญแล้วกัน

           ลืมแล้วหรือรสชาติของดอกเบี้ยสูงขึ้นพรวดพราดอย่างช่วงปี 2540-41 มันเจ็บปวดสยดสยองและช็อคเศรษฐกิจมากแค่ไหน



ผู้ตั้งกระทู้ dr กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-05-10 13:53:27 IP : 203.209.69.106


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (713108)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-07-18 14:50:51 IP : 203.146.127.159


ความคิดเห็นที่ 2 (748444)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-08-24 17:05:57 IP : 203.146.127.179



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.