ReadyPlanet.com


เปิดโพย "เศรษฐีค่าจ้าง" ซีอีโอ "SET 50" อู้ฟู่... สวนกระแสเงินฝืด


เปิดโพย "เศรษฐีค่าจ้าง" ซีอีโอ "SET 50" อู้ฟู่... สวนกระแสเงินฝืด

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek สำรวจ "ค่าตอบแทน" เฉลี่ยขั้นต่ำต่อคนต่อปีของผู้บริหารมือทอง จากบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มหุ้น SET 50 พบชื่อ "มนตรี ศรไพศาล" ซีอีโอจากค่าย บล.กิมเอ็ง (KEST) ยังรั้งหัวแถว รวยอู้ฟู่...ปีละ 27.6 ล้านบาท จี้ติดด้วย "ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์" รับค่าแรงจาก "ทีพีไอ โพลีน" (TPIPL) มากกว่าปีละ 26.7 ล้านบาท

ขณะที่ "4 บิ๊กแบงก์" (SCB-KBANK-BBL-KTB) จ่ายไม่อั้น! "4 ซีอีโอ" รวยยกแผง ฟันค่าจ้าง "ขั้นต่ำ" ต่อคนสูงกว่า 13-19 ล้านบาทต่อปี

"ทิสโก้(TISCO)-เกียรตินาคิน(KK)" แบงก์เล็ก...แต่กระเป๋าหนัก จ้าง "ปลิว-ธวัชไชย" นั่งหัวโต๊ะรายละ 16.2 และ 12.5 ล้านบาทต่อปี

ส่วนสองซีอีโอค่าย "ปูนใหญ่-ปูนกลาง" รวยอื้อ ตุนค่าแรงขั้นต่ำปีละ 15.6 และ 14.2 ล้านบาท

-----------------------------------------------------

เปิดผลสำรวจค่าเหนื่อย "บิ๊กซีอีโอ"

ณัฐวิทย์ ณ นคร

ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินทุกรูปแบบที่ผู้บริหารระดับสูงได้รับจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มักจะถูกกำหนดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นสำคัญ และจะจ่ายในอัตราที่เทียบเคียงกับบริษัทแห่งอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

ขณะที่บริษัทบางแห่งจะอาศัยวิธีกำหนดจำนวนเงินที่จ่าย โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารของ "บริษัทชั้นนำ" ในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากค่าตอบแทนตามปกติ (เงินเดือน-เงินสำรองเลี้ยงชีพ) ที่ผู้บริหารได้รับ ยังมีค่าตอบแทนพิเศษปลายปีในรูป "เงินโบนัส" ที่บริษัทขนาดใหญ่พร้อมจ่ายไม่อั้น เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจให้กับบรรดาผู้บริหารมืออาชีพ โดยจะอิงและแปรผันไปตามผลประกอบการของบริษัทแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมๆ กับภาวะต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น โบรกเกอร์จากทุกสำนักต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในปี 2549 มีแนวโน้มที่จะ "ถดถอย" ลงไปเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ "ค่าจ้าง" ของผู้บริหารในตลาดหุ้นยังคงสูงต่อไป

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ BizWeek สำรวจค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงสุดของบจ.ในกลุ่ม "SET 50" ซึ่งทั้งหมดถูกจัดวางให้เป็นหุ้นที่ได้รับการยอมรับในตลาดทุนของประเทศ

ผลที่ออกมาเป็นเพียงค่าตอบแทน "เฉลี่ยขั้นต่ำ" ต่อปี ที่ผู้บริหารระดับ "ซีอีโอ" และ "เอ็มดี" ของบริษัทแต่ละแห่งจะได้รับ

โดยคาดว่าผู้บริหารในกลุ่ม "SET 50" จะตุนรายได้ต่อปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก

"มนตรี ศรไพศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (KEST) แม้ปีก่อนบริษัทจะมีกำไรลดลง แต่เขาก็ยังคงเป็นซีอีโอมือทองที่ "มั่งคั่ง" ที่สุด โดยรับค่าตอบแทนทั้งในรูปของเงินเดือนและโบนัสประจำปี รวมเงินสำรองเลี้ยงชีพ "เฉลี่ยขั้นต่ำ" ปีละกว่า 27.6 ล้านบาท หรือเดือนละ 2.3 ล้านบาท หลังจากที่ยังสามารถนำ "บล.กิมเอ็ง" รักษาตำแหน่งแชมป์โบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการเทรดมากที่สุดในตลาดหุ้น

อัตราค่าจ้างของ "มนตรี" ถือว่าลดลง เมื่อเทียบกันแบบเงินต่อเงิน ระหว่างปี 2548 และปี 2547 ซึ่งปีนั้นมนุษย์ทองคำรายนี้มีค่าตัวสูงกว่าปีละ 35.8 ล้านบาท แต่การ "ด้อยค่า" ของค่าตัว ก็ยังถือว่าสมน้ำสมเนื้อเมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งมีกำไรสุทธิลดลงจาก 1.04 พันล้านบาท เหลือเพียง 7.15 ร้อยล้านบาท

ถัดมาเป็น "ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์" แห่ง "ทีพีไอ โพลีน" (TPIPL) ซึ่งรับเงินค่าฝีมือสูงกว่าปีละ 26.7 ล้านบาท

อีกกลุ่มที่น่าสนใจก็คือ ค่าตัวต่อปีของผู้บริหารมือทองจาก "กลุ่มธนาคารพาณิชย์" ที่ล้วนปรับแถวขึ้นมาติดอันดับต้นๆ ของผู้บริหารค่าตัวแพง โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หลังจากปี 2548 ที่ผ่านมา แทบทุกแห่งสามารถสร้างผลงานด้านตัวเลขประกอบการได้อย่างน่าพอใจ ขณะที่อัตราจ้างก็จำเป็นต้องจ่ายให้ "คุ้มฝีมือ" ท่ามกลางภาวะที่อุตสาหกรรมการเงินของไทยต้องเร่งปรับทัพรับมือเกมการแข่งขันจากธนาคารต่างชาติ

ไล่ตั้งแต่แคมป์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจ่ายค่าเหนื่อยให้แก่ "คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 19.98 ล้านบาท ตามด้วย "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" นักบริหารมืออาชีพ จากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เก็บค่าแรงได้สูงกว่า 17 ล้านบาทต่อปี

ส่วน "ชาติศิริ โสภณพนิช" ซีอีโอธนาคารกรุงเทพ (BBL) รับเข้ากระเป๋าเฉลี่ยปีละ 15.14 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ต่อด้วย "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" กินค่าแรงจากธนาคารกรุงไทย (KTB) เฉลี่ยขั้นต่ำ 13.31 ล้านบาทต่อปี

โดยมี "ปลิว มังกรกนก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ (TISCO) "สอดแทรก" เข้ามาติดอยู่ในทำเนียบผู้บริหารมือทองร่วมกับผู้บริหารของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยได้รับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 16.2 ล้านบาท พ่วงท้ายด้วยธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ที่มีกำไรสุทธิ "โตต่อเนื่อง" มาหลายปี ก็จ่ายค่าผลงานให้แก่ "ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล" ปีละ 12.55 ล้านบาท...เป็นอย่างน้อย

ทางด้าน "ปูนใหญ่" (SCC) กับ "ปูนกลาง" (SCCC) เสนอค่าตอบแทนต่อปีให้แก่ผู้บริหารในอัตราชั้นนำเช่นกัน โดย SCC จ่ายเงินขั้นต่ำให้แก่ "กานต์ ตระ***ลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตกปีละ 15.69 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

ส่วน SCCC ส่งเงินค่าจ้างใส่บัญชีให้แก่ "มร.ลีโอดีการ์ มิทเทลโฮลเซอร์" กรรมการผู้จัดการของบริษัท ไม่น้อยกว่าปีละ 14.25 ล้านบาท

ในอุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคม เจ้าสัวน้อย "ศุภชัย เจียรวนนท์" ซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เป็นบริษัท "แห่งเดียว" ของกลุ่ม SET 50 ที่อนาคตยังลุ่มๆ ดอนๆ เพราะผลประกอบการรอบหลายปีที่ผ่านมาประสบกับภาวะ "ขาดทุน" อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2548 ทรู ขาดทุนไปกว่า 4.26 พันล้านบาท แม้ไตรมาส 1/2549 ที่ผ่านมา บริษัทจะสามารถทยอยสะสมจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ "ทรูมูฟ" จนพาไปแตะที่ตัวเลข 5 ล้านเลขหมาย (เป้าหมายสิ้นปี 5.7 ล้านเลขหมาย) และเก็บ "รายได้" ประจำไตรมาสได้สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ

แต่ตัวเลขผลกำไร 498 ล้านบาทจากไตรมาสแรกที่ออกมา ก็ยังคล้ายภาพลวงตา เพราะนั่นเป็นเพียงกำไรจากรายการพิเศษและอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2.7 พันล้านบาท

สำหรับเจ้าสัวน้อย "ศุภชัย" กินเงินค่าจ้างจากบริษัทของครอบครัว "เฉลี่ยขั้นต่ำ" 14.12 ล้านบาทต่อปี

ส่วน "บุญคลี ปลั่งศิริ" จอมทัพจาก "ชิน คอร์ปอเรชั่น" (SHIN) ที่เพิ่งจะขายหุ้นไปให้แก่กองทุนเทมาเส็ก หลังธุรกิจเข้าสู่ระยะอิ่มตัว ส่วนผลกำไรก็ทำได้เพียงทรงๆ เท่านั้น โดยปี 2548 ที่ผ่านมา SHIN มีกำไรสุทธิ 8.57 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่คว้ากำไรไปได้ถึง 8.70 พันล้านบาท ขณะที่ "บุญคลี" ยังคงโกยค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน "ขั้นต่ำ" ปีละ 12.17 ล้านบาท

ยังไม่รวมผลตอบแทนในรูปของใบสำคัญแสดงสิทธิ ESOP ซึ่ง "บุญคลี" ได้รับสะสมไว้เป็นจำนวนมหาศาล นับเพียงเฉพาะปีก่อน (31 พ.ค.48) บุญคลีได้ ESOP ไปถึง 6.41 ล้านหน่วย คิดเป็น 40% ของจำนวนหน่วยทั้งหมดที่เสนอขายในปีนั้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ SHIN ถือเป็นบริษัทที่มีการจ่ายค่าตอบแทนเฉลี่ยขั้นต่ำให้แก่พนักงานในอัตรา "สูงที่สุด" ในกลุ่ม SET 50 หรือตกเฉลี่ยประมาณ 1.55 ล้านบาทต่อคนต่อปี

ส่วน บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่ทำกำไรปี 2548 ลดลงไปจากระดับ 2.0 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.89 หมื่นล้านบาท ก็ยังคงจ่ายค่าแรงให้แก่ "สมประสงค์ บุญยะชัย" เป็นจำนวนที่สูงกว่าปีละ 12.65 ล้านบาท เฉลี่ยเป็นค่าตอบแทนต่อเดือนประมาณ 1.05 ล้านบาท

ทางด้านซีอีโอจากธุรกิจพลังงาน "อดิเทพ พิศาลบุตร์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.เคมิคอล (PTTCH) สะสมค่าแรงเฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 16.48 ล้านบาท "ดร.วิโรจน์ มาวิจักขณ์" กรรมการอำนวยการ ไทยออยล์ (TOP) กินเงินตอบแทนจากบริษัท 13.32 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ ปตท. (PTT) จ่ายค่าเหนื่อยให้ "ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" อย่างน้อยๆ ปีละ 10.67 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของใต้ "เครือข่ายปตท." ทุกคน ยังมีรายได้จากเงินค่าแรงในฐานะกรรมการของบริษัทในกลุ่ม รวมถึงผลประโยชน์จากการรับสิทธิ ESOP และจากการขายหุ้นอีก...ในจำนวนที่มากกว่าค่าตอบแทนที่คิดเป็นตัวเงิน

สำหรับค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทในอุตสาหกรรม "เดินเรือ" ทั้ง 3 แห่ง ตั้งแต่ "อาร์ ซี แอล" (RCL) "โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์" (TTA) และ "พรีเชียส ชิพปิ้ง" (PSL) แม้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเดินเรือทั้งหมดมีผลกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผลงานในปี 2549 เริ่มมีสัญญาณว่ากำไรจะลดลง ซึ่งค่าจ้างโดยรวมก็ยังคงเกาะกลุ่มกันอย่างชัดเจน โดย "สุเมธ ตันธุวนิตย์" เอ็มดี RCL รับเงินตอบแทนขั้นต่ำ...จากบริษัทตัวเองปีละ 11.69 ล้านบาท "ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต" รับจาก TTA เฉลี่ยปีละ 11.57 ล้านบาท และ "มร.คาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม" ได้รับจาก PSL เป็นเงินมากกว่า 11.18 ล้านบาทต่อปี

ปิดท้ายที่ค่าย "เจริญโภคภัณฑ์อาหาร" (CPF) ซึ่งผลงานในปี 2548 ที่ผ่านมา มีกำไรมากถึง 6.74 พันล้านบาท พุ่งขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 5 เท่าที่มีกำไรเพียง 1.23 พันล้านบาท ก่อนจะตกรางวัลเป็นค่าตอบแทนให้แก่ "อดิเรก ศรีประทักษ์" เป็นเงิน 12.18 ล้านบาทต่อปี ส่วน "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ซีอีโอ ซี.พี.เซเว่นฯ (CP7-11) ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 11.95 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ ค่าตอบแทนที่ผู้บริหารในกลุ่ม SET 50 ทั้งหมดนี้ ถือเป็นเพียงอัตราเงิน "เฉลี่ยขั้นต่ำ" ที่ผู้บริหารแต่ละคนจะได้รับ โดยคาดว่าทุกๆ คนจะได้รับค่าตอบแทนต่อปีในรูปของเงินเดือน เงินสำรองเลี้ยงชีพ และเงินโบนัส ในจำนวนเงินที่สูงกว่านี้อย่างมาก

กลุ่มแบงก์ "แชมป์" ค่าตัวแพงสุด

จากการสำรวจค่าตอบแทนผู้บริหารเมื่อปี 2547 นับเฉลี่ยต่อคนต่อปีแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า บริษัทจดทะเบียน "ทั้งตลาด" จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้บริหารเฉลี่ยต่อคนปีละ 3.05 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนที่อยู่ในรูปของเงินเดือน เงินโบนัส และเงินสมทบสำรองเลี้ยงชีพ

โดยกลุ่มธุรกิจ "ธนาคารพาณิชย์" ถือเป็นอุตสาหกรรมที่กล้าจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทุกกลุ่มในตลาดหุ้น หรือคิดเป็นอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อคนปีละ 7.68 ล้านบาท

ลำดับถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจใน "กลุ่มพาณิชย์" อาทิเช่น "CP7-11" "BIG C" "HMPRO" "MAKRO" และ "ROBINS" เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้บริหารระดับสูง เฉลี่ยคนละ 5.62 ล้านบาทต่อปี

ส่วนค่าตอบแทนใน "กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์" ถือเป็นกลุ่มที่มี "ช่วงค่าจ้าง" ที่กว้างที่สุด โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่ำที่สุดที่ 1.87 แสนบาท และสูงที่สุดอยู่ที่ 35.81 ล้านบาท (บล.กิมเอ็ง)

โดยที่หมวด "คลังสินค้าและไซโล" มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารโดยเฉลี่ยต่อคนต่อปี "น้อยที่สุด" ในตลาดหุ้น หรือจำนวน 9.75 แสนบาทเท่านั้น

ล่วงเข้าปี 2548 กลุ่มผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ก็ยังรับเงิน "ค่าแรงเฉลี่ย" ในอัตราสูงที่สุดถึงคนละ 9.31 ล้านบาทต่อปี (ค่าตอบแทนเฉลี่ยจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 14 แห่ง) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 7.68 ล้านบาทต่อคนต่อปี

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ BizWeek สำรวจค่าตอบแทนเฉลี่ยที่เป็นตัวเงินในรูปของเงินรายเดือน โบนัสรายปี และเงินสมทบสำรองเลี้ยงชีพ ของ "นายแบงก์" จากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 14 แห่งที่ลิสต์อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งทุกแห่งจะมีระบบการวางเกณฑ์มาตรฐานค่าตอบแทนส่วนใหญ่อิงกับผลการดำเนินงานของธนาคารแต่ละแห่ง และพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานของนายแบงก์เป็นสำคัญ

โดยภาพที่ออกมานั้น ระดับค่าแรงค่อนข้างจะแตกต่างกันไปตาม "ไซส์" ของธนาคาร

ไล่ระดับกันลงไปตั้งแต่ธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดย "ธนาคารไทยพาณิชย์" มีค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุดในระบบธนาคารไทย เมื่อจ่ายผู้บริหาร 6 ราย รวม 94.33 ล้านบาท คิดเฉลี่ยที่อัตรา 15.72 ล้านบาทต่อคนต่อปี ตามด้วย "ธนาคารกสิกรไทย" ที่จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหาร 9 ราย คิดรวม 139.41 ล้านบาท ตกเฉลี่ยรายละ 15.49 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ "ลิตเติลแบงก์" อย่าง "ธนาคารทิสโก้" และ "ธนาคารเกียรตินาคิน" กลับสามารถสอดแทรกขึ้นมาจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่ทัดเทียมกับบิ๊กแบงก์ โดย ธนาคารทิสโก้ ที่จ่ายค่าเหนื่อยให้แก่นายแบงก์ 11 ราย รวมทั้งหมด 169.67 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 15.42 ล้านบาทต่อคน

ส่วน ธนาคารเกียรตินาคิน จ่ายให้ 12.07 ล้านบาทต่อคนต่อปี ปาดหน้า ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะธนาคารพาณิชย์หมายเลขหนึ่งของประเทศ ที่คิดค่าตอบแทนเฉลี่ยให้แก่ผู้บริหารแบงก์คนละ 11.93 ล้านบาทต่อปี

ด้าน "ธนาคารกรุงไทย" จ่ายค่าเหนื่อยรวมทั้งสิ้น 178.21 ล้านบาท ให้กับ 17 ผู้บริหารระดับสูง หรือเฉลี่ยคนละ 10.49 ล้านบาทต่อปี

สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางอย่าง "ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหาร 9 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80.15 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วจะได้ค่าตอบแทนกันคนละ 8.90 ล้านบาทต่อปี เกาะด้วย "ธนาคารกรุงศรีอยุธยา" ที่กำลังแบ่งหุ้นขายไปให้กับต่างชาติ (จีอี แคปปิตอล) ก็มีการจ่ายเงินรวม 110.63 ล้านบาท ให้แก่ 16 ผู้บริหาร ซึ่งรับไปเฉลี่ยคนละ 6.91 ล้านบาทต่อปี

ส่วน "ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์" ถือเป็นธนาคารที่จ่ายเงินตอบแทนเฉลี่ยให้แก่ผู้บริหารในอัตราเฉลี่ย "ต่ำที่สุด" ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นการจ่ายค่าจ้างรวมให้แก่ผู้บริหารถึง 54 ราย (ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการอาวุโสขึ้นไป) รวมจำนวน 246.88 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 4.57 ล้านบาทต่อปี

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ยังทำการสำรวจค่าตอบแทนเฉลี่ยรายปีของ "พนักงานแบงก์" ซึ่งส่วนใหญ่ค่าตัวค่อนข้างที่จะเกาะกลุ่มกันอย่างชัดเจน แต่น่าสนใจว่ากลับเป็น ธนาคารเกียรตินาคิน ที่กล้าจ่ายค่าเหนื่อยให้แก่พนักงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยจ่ายให้เฉลี่ย 645,161 บาท สูงกว่าธนาคารกสิกรไทย ที่จ่ายค่าแรงเฉลี่ยตกคนละ 622,580 บาทต่อปี และอันดับสามเป็น ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าจ้างพนักงาน 617,211 บาทต่อคนต่อปี

โดยมี "ธนาคารธนชาต" รั้งอยู่ท้ายกลุ่ม เนื่องจากจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานเพียงคนละ 162,464 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง

ค่าตอบแทน "เฉลี่ยขั้นต่ำ" ของผู้บริหารสูงสุดในกลุ่ม SET 50

ผู้บริหาร บริษัท ค่าตอบแทนเฉลี่ยขั้นต่ำ(บาท/คน/ปี) ค่าตอบแทนพนักงานเฉลี่ย(บาท/คน/ปี) กำไรสุทธิปี 2548 (ล้านบาท)

มนตรี ศรไพศาล KEST 27,641,667 926,600 715

ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ TPIPL 26,743,000 340,304 1,521

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม SCB 19,981,666 440,465 18,883

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล KBANK 17,007,131 622,580 13,930

อดิเทพ พิศาลบุตร์ PTTCH 16,487,001 922,756 12,925

ปลิว มังกรกนก TISCO 16,204,827 527,810 1,791

กานต์ ตระ***ลฮุน SCC 15,696,813 1,298,816 32,236

ชาติศิริ โสภณพนิช BBL 15,149,722 519,942 20,306

มร.ลีโอดีการ์ฯ มิทเทลโฮลเซอร์ SCCC 14,248,332 538,858 4,072

ศุภชัย เจียรวนนท์ TRUE 14,128,750 545,649 -4,269

ดร.วิโรจน์ มาวิจักขณ์ TOP 13,319,998 1,508,288 18,753

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ KTB 13,312,875 617,211 13,024

สมประสงค์ บุญยะชัย ADVANC 12,657,500 527,246 18,908

ธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล KK 12,556,195 645,161 2,436

อดิเรก ศรีประทักษ์ CPF 12,185,714 114,481 6,747

บุญคลี ปลั่งศิริ SHIN 12,176,667 1,555,555 8,573

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ BANPU 12,057,077 251,798 5,565

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CP7-11 11,956,667 239,388 1,508

สุเมธ ตันธุวนิตย์ RCL 11,699,077 914,518 4,800

ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต TTA 11,570,265 658,000 5,949

มร.คาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม PSL 11,180,000 919,512 6,177

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ PTT 10,675,745 1,236,960 85,521

โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ AOT 10,080,000 864,363 7,409

สุชาดา อิทธิจารุกุล MAKRO 9,837,500 253,293 1,136

มารุต มฤคทัต PTTEP 8,596,732 969,249 23,735

ลินดา ลีสหปัญญา BH 8,452,457 326,581 1,053

อรุณ จิรชวาลา SCIB 7,417,056 397,649 6,265

พงศ์พินิต เดชะคุปต์ BAY 7,354,537 356,739 6,017

อนันต์ อัศวโภคิน LH 7,278,600 563,022 5,181

ซิคเว่ เบรกเก้ UCOM 6,635,682 380,350 991

ร.อ.ท.อภินันทน์ สุมนะเศรณี THAI 6,470,053 1,285,500 6,777

ศุภเดช พูนพิพัฒน์ TCAP 6,346,497 682,035 3,104

มร.ปีเตอร์ฯ เจอร์เมน เทอร์โมท GLOW 5,819,500 684,976 3,866

เพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ATC 5,672,543 419,535 5,243

ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ TMB 5,619,047 396,334 7,800

วิศิษฎ์ อัครวิเนค EGCOMP 5,579,171 1,050,304 4,092

น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร BGH 5,269,166 1,009,124 832

คเณศ ขาวจันทร์ TPC 5,076,727 764,151 2,820

กอบชัย จิราธิวัฒน์ CPN 5,010,313 279,204 3,294

สุวิช พึ่งเจริญ BECL 5,005,834 N.A. 1,488

วิน วิริยประไพกิจ SSI 4,851,156 276,639 -1,536

เปรมชัย กรรณสูต ITD 4,550,000 N.A. 1,262

ทรงศักดิ์ เปรมสุข ITV 4,507,500 407,249 679

ธีรพงศ์ จันศิริ TUF 4,495,000 110,818 2,082

ณรงค์ สีตสุวรรณ RATCH 4,257,900 1,062,416 6,066

ประวิทย์ มาลีนนท์ BEC 3,730,686 452,169 881

มร.ริชาร์ด เดวิด ฮัน HANA 3,521,504 N.A. 2,061

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ MCOT 3,504,788 637,581 1,104

ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ SATTEL 3,409,829 172,460 1,208

อึ้ง กวง มิ้ง DELTA 1,521,000 334,310 2,285

ค่าเฉลี่ยรวมทั้ง SET 50 9,770,149

หมายเหตุ : (1) เป็นการหาค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน "เฉลี่ยขั้นต่ำ" เฉพาะส่วนที่รับจากบริษัทแห่งเดียวที่ผู้บริหารปฏิบัติงานหลักอยู่เท่านั้น

(2) ค่าตอบแทนเฉลี่ยของซีอีโอทุกคน นับรวมถึงค่าตอบแทนในตำแหน่งกรรมการบริษัทแห่งนั้น

ค่าตอบแทนเฉลี่ยของผู้บริหาร และพนักงานธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง

ธนาคาร จำนวนผู้บริหาร(คน) ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (บาท) ค่าตอบแทนเฉลี่ย (บาท/คน/ปี) ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงาน(บาท/คน/ปี)

SCB 6 94,330,000 15,721,667 440,465

KBANK 9 139,411,184 15,490,131 622,580

TISCO 11 169,673,098 15,424,827 527,810

KK 8 96,609,558 12,076,195 645,161

BBL 12 143,210,000 11,934,167 519,942

KTB 17 178,210,000 10,492,875 617,211

SCBT 9 80,150,000 8,905,555 N.A.

BAY 16 110,632,603 6,914,537 356,739

ACL 13 82,726,642 6,363,587 604,744

SCIB 6 37,588,021 6,264,670 397,649

TMB 21 118,000,000 5,619,047 396,334

BT 7 38,325,672 5,475,096 378,983

TBANK 5 25,409,665 5,081,933 162,464

UOBT 54 246,887,000 4,571,981 425,718

ค่าเฉลี่ยรวม 9,309,733

หมายเหตุ / ค่าตอบแทนเฉลี่ยที่เป็นตัวเงินในรูปของเงินเดือน โบนัส เงินสมทบสำรองเลี้ยงชีพ (ไม่รวมค่าตบแทนในตำแหน่งกรรมการ)

 



ผู้ตั้งกระทู้ musashi โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2006-06-16 15:39:48 IP : 202.139.204.2


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (399180)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2006-06-25 04:35:05 IP : 38.99.203.110


ความคิดเห็นที่ 2 (713195)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-07-18 14:55:48 IP : 203.146.127.159


ความคิดเห็นที่ 3 (748519)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-08-24 17:12:44 IP : 203.146.127.179



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.